[x] ปิดหน้าต่างนี้
   
   กลับหน้าหลัก

แหล่งท่องเที่ยวในตำบลหาดสองแคว 

                 

ประเภทธรรมชาติ ได้แก่ โฮมสเตย์ตำบลหาดสองแคว จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2549 เป็นการร่วมกลุ่มกันของชาวบ้านที่ต้องต้อนรับญาติพี่น้องที่เข้ามาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอๆ หรือมางานประเพณีต่างๆ ในตำบลอยู่แล้วและจากการที่มีผู้คนสนใจเข้ามาเรียนรู้ในวิถีชีวิตของชาวหาดสองแควที่มีอัตลักษณ์โดนเด่นหลายประการ เช่น ประเพณีหาบจังหัน งานประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติ งานย้อนรำลึกเส้นทาง ประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 5 เสด็จเมือง ตรอนตรีสินธุ์ และการบริหารจัดการของ อบต.หาดสองแคว การดำเนินงานในช่วงแรกก็มิได้มีรูปแบบอะไร เมื่อมีผู้สนใจมาพักหากบ้านใครว่างก็ให้แขกเข้าไปพักได้เลย ส่วนค่าที่พักก็ตามแต่แขกจะจ่ายใหต่อมีผู้คน นักเดินทางมาดูเยี่ยมเยือนศึกษาเรียนรู้และพักโฮมสเตย์อยู่เสมอมาขึ้น กลุ่มโฮมสเตย์ที่เริ่มก่อตั้งจำนวน 5 หลัง ก็ได้ช่วยกันคิด หารูปแบบของโฮมสเตย์ว่าควรเป็นอย่างไรจึงได้ประสานงานกับ อบต.หาดสองแคว  เพื่อร่วมกันวางแผนในการบริหารจัดการ โดยการดึงทุกภาคส่วนที่มีอยู่ในตำบลเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีวัตถุประสงค์คือ ให้บริการแก่แขกผู้มาเยือนดุจญาติมิตรการสร้างเสริมรายได้ให้แก่ชุมชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น การพึ่งพาตนเอง และการสนับสนุนส่งเสริม ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของตำบล   ผู้ที่มาพักโฮมสเตย์นอกจากจะได้มาชมวิถีชีวิตของคนที่นี่แล้ว ก็ยังจะได้มาชิมอาหารพื้นบ้านตามแบบของชาวลาวเวียง ได้ทำบุญไหว้พระที่วัดหาดสองแคว ซึ่งชาวบ้านยังคงมีความผูกพันกับวัด เห็นได้จากในทุกๆ วันพระหรือวันสำคัญทางศาสนาจะมีพุทธศาสนิกชนมาร่วมทำบุญกันจนเต็มศาลาวัด อีกทั้งที่วัดหาดสองแควยังมีพระเครื่องที่ขึ้นว่าเป็นของดีของขลังให้คนได้เช่าบูชา ได้ปั่นจักรยานเที่ยวชมบรรยากาศในหมู่บ้าน ใช้ชีวิตช้าๆ สบายๆ แบบไม่เร่งรีบ และยังจะได้ชมบรรยากาศของแม่น้ำน่าน ได้ขึ้นแพท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ริมน่าน
 

 

 




ประเภทวัฒนธรรมพื้นบ้าน ได้แก่
โบสถ์วัดคลึงคราช เมืองชูชก
เมืองชูชกอยู่ในท้องถิ่นบ้านเด่นสำโรง ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน และอยู่ริมแม่น้ำน่านฟากตะวันตก อยู่ห่างตัวเมืองอุตรดิตถ์ ประมาณ 10 กิโลเมตร หรือถ้าโดยสารรถไฟลงที่สถานีรถไฟตำบลท่าสักจะสะดวกที่สุดเพราะมีถนนจากสถานีรถไฟท่าสักถึงตำบลหาดสองแควและเดินข้ามฟากแม่น้ำน่านไปยังตัวเมือง ซึ่งอยู่ทางฝากตะวันออกของแม่น้ำ
          เมืองชูชกนี้ไม่ทราบว่ามีชื่อว่าอะไร เพราะไม่มีปรากฏในศิลาจารึกหรือพงสาวดาร เหตุที่มีชื่อว่า “เมืองชูชก” เนื่องจากชาวบ้านเรียกชื่อนี้กันมานานแล้วจนสืบคนไม่ได้ว่าเรียกชื่อนี้มาตั้งแต่เมื่อใด อีกทั้งเชื่อกันว่าชื่อเมืองชูชกนี้มีที่มาจากเรื่องพระเวสสันดรชาดก คือเชื่อว่าเมืองนี้เป็นเมืองของตาชูชกนั่นเอง นอกจากนี้ยังมี ถนนตาชุชก ถนนมัทรี มีภูเขาชื่อพระนางมัทรี หรือเขามัทรี เขาวงกต มีชื่อวัดคลึงคราช และวัดคีรีวงกรต เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าความเชื่อเหล่านี้เกี่ยวของกับเรื่องพระเวชสันดรชาดกทั้งสิ้น
          ลักษณะของเมืองชูชก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโดยใช้แม่น้ำน่านเป็นคูเมืองธรรมชาติด้านตะวันตก ส่วนด้านเหนือมีคลองตรอน ลักษณะคูเป็นคูเมือง   2   ชั้น และมีกำแพงเมือง 3 ชั้น คูเมืองบางตอนเป็นนาข้าวของชาวบ้าน เพราะเป็นที่ลุ่มเหมาะจะปลูกข้าวได้อย่างดี ส่วนด้านใต้มีคูเมืองและกำแพงเมืองเหลืออยู่น้อย เนื่องจากถูกทำลายเพื่อเป็นไร่นาเป็นส่วนมาก
          ภายใต้ตัวเมืองที่มีวัดอยู่แห่งหนึ่งชื่อวัดคลึงคราช ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านพึ่งสร้างขึ้นใหม่เมื่อราว 60 ปีเศษมานี้เอง จากการสอบถามท่านเจ้าอาวาสและชาวบ้านเล่าว่าวัดนี้สร้างทับบนวัดล้างเก่า และมีชื่อก่อตั้งขึ้นใหม่ให้คล้องจองกับชื่อเมืองที่ชื่อว่า เมืองชูชกในเรื่องพระเวชสันดร ในบริเวณวัดมีสระน้ำเก่า ที่ขอบสระบางตอนมีสระน้ำเก่าด้วย   ที่ขอบสระบางตอนมีซากอิฐเก่าด้วย   หากทำการขุดแต่งคาดว่าจะเป็นฐานของ โบสถ์ วิหาร หรือเจดีย์ ก็ได้นอกจากนี้ในตัวเมืองยังพบเศษเครื่องปั้นดินเผาอยู่ทั่วไป    จากคำบอกเล่าของชาวบ้านกล่าวว่าเคยมีคนเดินทางเข้าไปหลงในตัวเมืองพบเสาหิน   เข้าใจว่าเป็นเสาหลักเมือง แต่ตอนหลังก็ไม่มีใครพบอีก     และเคยมีคนพบโอ่งกับโครงกระดูกคนด้วย
          ตัวเมืองชูชกนี้ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านเด่นสำโรง ชื่อหมู่บ้านนี้ชาวบ้านเล่าว่าเพราะเคยเห็นต้นสำโรงใหญ่มากอยู่ต้นหนึ่งทางทิศใต้ของวัดคลึงคราช และ ชื่อหมู่บ้านนี้   ยังเป็นชื่อโรงเรียนบ้านเด่นสำโรงตั้งอยู่บริเวณวัดคลึงคราช นั่นเอง

          ส่วนชื่อถนนคือ ถนนตาชูชก   และ ถนนมัทรี   นั้นเป็นแนวถนนที่มีแต่โบราณอยู่ ทางทิศใต้ของเมืองชูชก และ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองตาชูชก มีภูเขาลูกหนึ่งเรียกว่าเขาพระนางมัทรี ถัดจากเขามัทรีขึ้นไปทางทิศเหนือมียอดเขาแหลมสูงสุด   เชื่อกันว่าเขาวงกตทางทิศตะวันออกของเมืองตาชูชก มีวัดอยู่แห่งหนึ่งมีชื่อว่า วัดคีรีวงกต ซึ่งเดิมอาจมีชื่อว่าวัดเขาวงกตก็ได้เพราะคีรีก็คือภูเขานั่นเอง   สำหรับหมู่บ้านที่เขามัทรี    และ    ถนนมัทรี   มีชื่อว่าบ้านนาคะนึง   เป็นหมู่บ้านอยู่ในท้องที่ตำบลนายาง   อำเภอพิชัย   จังหวัดอุตรดิตถ์ ชื่อหมู่บ้านนี้คุณอเนก   โปร่งแสง    ครูใหญ่โรงเรียนบ้านนาคะนึง   เล่าว่ามีตำนานที่มาเกี่ยวกับบ้านนาคะนึงว่าเดิมบ้านนาคะนึงมีชื่อว่า   บ้านนางคำนึง   เนื่องจากพระเวสสันดร ได้พานางมัทรีออกจากกรุงสันชัยไปเขาวงกต   เมื่อถึงหมู่บ้านนี้นางมัทรีได้คำนึงถึงกรุงสันชัย   จึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่าบ้านนางคะนึง   ต่อมาเพี้ยนเป็นบ้านนาคะนึงจนถึงปัจจุบัน จึงเห็นได้ว่าบริเวณใกล้เคียงกันกับเมืองตาชูชกนี้มีชื่อหมู่บ้าน     ชื่อวัด     ชื่อถนน    ชื่อภูเขา      และตำนานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพระเวสสันดรมากพอสมควรที่ แสดงว่าเมืองตาชูชกเป็นเมืองที่เก่าแก่ จนอยากที่จะสืบคนว่าเก่าแก่สักเท่าใด







การตักบาตรหาบจังหัน บ้านหาดสองแคว
บ้านหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์    ตามประวัติเล่าว่าตั้งถิ่นฐานก่อน พ.ศ. 2350 ชาวบ้านมีเชื้อสายมาจากเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวลาสนทนาระหว่างชาวบ้านด้วยกัน จะใช้ภาษาพื้นเมือง ซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมของเวียงจันทน์
เนื่องจากสภาพพื้นที่ตั้งอยู่ในที่เหมาะสมมีลำน้ำ     2    สายมาบรรจบกัน คือ   แควน้ำน่านกับแควลำคลองตรอน     จึงได้ชื่อว่าบ้านหาดสองแคว ชาวบ้านประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่เพาะปลูกพืช เลี้ยงปลา   เพราะมีบึงขนาดใหญ่อยู่ในบริเวณหมู่บ้านคือบึงพาด
ชาวบ้านมีอาชีพเสริมตลอดเวลา และ มีวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น    นอกจากจะเชื่อเรืองเลี้ยงเจ้าพ่อเข้าทรง     ปัดเป่า    สะเดาะเคราะห์ การทำบุญตามเทศกาล และตักบาตรพระตอนเช้าทุกวันมิได้ขาดแล้วยังมีความโดดเด่นในเรื่องพิธีการ เช่นการตักบาตรหาบจังหัน
          พระครูมงคลศิริวิธาน เจ้าคณะตำบลหาดสองแควเล่าให้ฟังว่า มีพระต่างถิ่นเคยจำวัดอยู่ด้วยกัน ตอนเช้าก็เดินบิณฑบาตด้วยกันแต่เช้า ตลอดทางที่ออกบิณฑบาตก็ให้นึกสงสัยตลอดเวลาว่า   พระวัดนี้เขาฉันท์แต่ข้าว ไม่ต้องมีกับข้าวหรืออย่างไรเพราะไม่เห็นมีชาวบ้านคนใดมาใส่บาตรสักคนเลย ตักข้าวใส่บาตรแล้วก็กลับ จนกระทั่งมาถึงวัดก็ได้กระจ่าง    เพราะ   วัฒนธรรมประเพณีตักบาตรไม่เหมือนกับที่ใด ๆ นั่นก็คือเวลาประมาณ 6.00 น. พระสงฆ์จะออกแบ่งสายไปตามหมู่บ้าน   เมื่อสิ้นสุดเส้นทางก็จะเดินกลับเที่ยวออกจากวัดไปจนถึงจุดที่ไม่มีชาวบ้านอยู่เลย เมื่อพระเริ่มบิณฑบาตกลับชาวบ้านที่อยู่ท้ายบ้านจะตีเกราะเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้จะได้ออกมายืนตักบาตรรวมเป็นหมู่ บ้างยืนคนเดียวบ้างเมื่อพระเดินเลยไปสักระยะหนึ่งก็จะได้ยินเสียงตีเกราะไม้ไผ่อีกเมื่อพระเดินกลับวัดไปแล้วก็จะมีชาวบ้านนำอาหาร หรือ ปิ่นโตมาไว้บนแป้นหน้าบ้านต่อจากนั้นก็จะมีคนหาบสาแหรกสายละ   3-4 คน    เดินหาบกระจาดผ่านแป้นที่มีอาหารวางอยู่ก็จะหยิบ    ใส่หาบ ไปถึงวัดแล้วก็จะจัดเรียงอาหารลงถาดไม่ต้องถ่ายถ้วยชาม แล้วยกขึ้นเหนือหัวแทนเจ้าของอาหารทุกคน    เมื่อพระนั่งเรียบร้อย    ผู้ชายก็จะทำหน้าที่
ประเคนอาหารพระแล้วนั่งรอจนกว่าพระจะฉันท์เสร็จ เมื่อพระให้ศีลให้พรแล้วก็นำอาหารมารับประทานกัน ส่วนที่เหลือก็ส่งกลับเจ้าของเดิมถ้าถ้วยอาหาร ใครหมดคนหาบก็จะตักข้าวสุขใส่ให้จนเต็มถ้วย หลังจากนั้นก็หาบแป้นอาหารไปไว้ตามแป้นหน้าบ้านตามเดิม ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน   ยกเว้นวันพระ    ทุกคนจะหาบมากันเอง ส่วนอาหารปิ่นโตจะเป็นที่รู้จักกันว่าจัดไว้ถวายพระตอนเพล



 



เข้าชม : 1533
 
กศน.ตำบลหาดสองแคว  อำเภอตรอน  จังหวัดอุตรดิตถ์
โทรศัพท์ 084-8187086  อ.มุฑิตา  เที่ยงน้อย , โทรศัพท์ 084-5792648  อ.สุวิท  จันมลฑา
 E-mail : tron-nfe@hotmail.com 
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.04tb    Admin