หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
แนวคิด
กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551 เป็นหลักสูตรที่มุ่งจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองอุดมการณ์การจัดการศึกษาตลอดชีวิต การสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตามปรัชญา “คิดเป็น” เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและสังคม มีการบูรณาการอย่างสมดุลระหว่างปัญญาธรรม ศีลธรรม และวัฒนธรรม มุ่งสร้างพื้นฐานการเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และพัฒนาความสามารถเพื่อการทำงานที่มีคุณภาพ โดยให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมจัดการศึกษาให้ตรงตามความต้องการของผู้เรียน และสามารถตรวจสอบได้ว่า การศึกษานอกระบบเป็นกระบวนการของการพัฒนาชีวิตและสังคม สามารถพึ่งพาตนเองได้ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เป็นหลักสูตรที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการของบุคคลที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ประสบการณ์จากการทำงาน และการประกอบอาชีพ โดยการกำหนดสาระการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลุ่มเป้าหมายด้านจิตใจให้มีคุณธรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาการเรียนรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน สามารถจัดการกับองค์ความรู้ ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเพื่อให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สร้างภูมิคุ้มกันตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งคำนึงถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้ที่อยู่นอกระบบ และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสาร
หลักการ
หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดหลักการไว้ดังนี้
1. เป็นหลักสูตรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นด้านสาระการเรียนรู้ เวลาเรียน และการจัดการเรียนรู้ โดยเน้นการบูรณาการเนื้อหาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความแตกต่างของบุคคล ชุมชน และสังคม
2. ส่งเสริมให้มีการเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยตระหนักว่าผู้เรียนมีความสำคัญ สามารถพัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
4. ส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
จุดหมาย
หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีสติปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักยภาพในการประกอบอาชีพและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องการ จึงกำหนดจุดหมายดังต่อไปนี้
1. มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
2. มีความรู้พื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
3. มีความสามารถในการประกอบสัมมาอาชีพให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัด และตามทันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
4. มีทักษะการดำเนินชีวิตที่ดี และสามารถจัดการกับชีวิต ชุมชน สังคมได้อย่างมีความสุขตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
5. มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย โดยเฉพาะภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา ภูมิปัญญาไทย ความเป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนา
ยึดมั่นในวิถีชีวิต และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
6. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
7. เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีทักษะในการแสวงหาความรู้ สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ และบูรณาการความรู้มาใช้ในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
ระดับการศึกษา
ระดับการศึกษาแบ่งระดับการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ
- ระดับประถมศึกษา
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
โดยแต่ละระดับใช้เวลาเรียน 4 ภาคเรียน ยกเว้นกรณีที่มีการเทียบโอน แต่ทั้งนี้ต้องลงทะเบียนเรียนในสถานศึกษาอย่างน้อย 1 ภาคเรียน
สาระการเรียนรู้
สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ประกอบด้วย 5 สาระการเรียนรู้ และ 18 มาตรฐานการเรียนรู้ ดังนี้
1. สาระทักษะการเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 1.1 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง
มาตรฐานที่ 1.2 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการใช้แหล่งเรียนรู้
มาตรฐานที่ 1.3 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการจัดการความรู้
มาตรฐานที่ 1.4 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการคิดเป็น
มาตรฐานที่ 1.5 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการวิจัยอย่างง่าย
2. สาระความรู้พื้นฐาน ประกอบด้วย 2 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 2.1 มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาและการสื่อสาร
มาตรฐานที่ 2.2 มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3. สาระการประกอบอาชีพ ประกอบด้วย 4 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 3.1 มีความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติที่ดีในงานอาชีพ มองเห็นช่องทาง และตัดสินใจประกอบอาชีพได้ตามความต้องการ และศักยภาพของตนเอง
4. สาระทักษะการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย 3 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 4.1 มีความรู้ ความเข้าใจ เจตคติที่ดีเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
และสามารถประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม
มาตรฐานที่ 4.2 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีเกี่ยวกับการดูแล ส่งเสริมสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต
มาตรฐานที่ 4.3 มีความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติที่ดีเกี่ยวกับศิลปะและ สุนทรียภาพ
5. สาระการพัฒนาสังคม ประกอบด้วย 4 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 5.1 มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง สามารถนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต
มาตรฐานที่ 5.2 มีความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่า และสืบทอดศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
มาตรฐานที่ 5.3 ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย มีจิตสาธารณะ เพื่อความสงบสุขของสังคม
มาตรฐานที่ 5.4 มีความรู้ ความเข้าใจ เห็นความสำคัญของหลักการพัฒนา และสามารถพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน/สังคม
หมายเหตุ สาระการเรียนรู้ความรู้พื้นฐาน มาตรฐานที่ 2.1 มีความรู้ความเข้าใจทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาและการสื่อสาร ซึ่งภาษาในมาตรฐานนี้หมายถึง ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ
รูปแบบการจัดการศึกษานอกโรงเรียน
สถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จัดบริการการศึกษา ขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลายให้กับประชาชน 3 รูปแบบ ดังนี้
1. แบบพบกลุ่ม
2. แบบทางไกล
3. แบบเทียบระดับการศึกษา
แบบพบกลุ่ม
เป็นการจัดการศึกษาให้กับประชาชนที่ต้องการเพิ่มความรู้ให้กับตนเองและมีเวลามาพบกลุ่ม ทุกสัปดาห์ ๆ ละไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ในวันและเวลาใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานศึกษาและผู้เรียนตกลงกัน ใช้เวลาภาคเรียนละไม่น้อยกว่า 20 สัปดาห์ โดยรวมกับเวลาสอบ การจัดการศึกษาดังกล่าวจะมีคะแนนเก็บกลางภาค และทดสอบปลายภาค แล้วนำผลคะแนนมารวมกันเพื่อตัดสินผลการเรียน และเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง รูปแบบนี้เหมาะสมกับผู้มีเวลามาพบกลุ่มทุกสัปดาห์ และเปิดบริการทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
แบบทางไกล
การศึกษารูปแบบทางไกล ผู้เรียนลงทะเบียนเรียนแล้วให้ศึกษาด้วยตนเองจากชุดการเรียนทางไกล ห้องสมุด อินเตอร์เน็ต หรือสื่ออื่น ๆ และเข้าสอบปลายภาค ณ สถานที่ที่สถานศึกษากำหนด การจัดการศึกษาแบบทางไกล ผู้เรียนจะไม่มีคะแนนเก็บกลางภาคใช้คะแนนสอบปลายภาคเป็นการตัดสินผลการเรียน นอกจากนี้ต้องทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง รูปแบบนี้เหมาะสมกับผู้เรียนที่ไม่มีเวลามาเรียน ทุกสัปดาห์ รับผู้เรียนเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เท่านั้น
แบบเทียบระดับการศึกษา
การศึกษาแบบนี้เป็นการประมวลประสบการณ์และความรู้ที่เป็นองค์รวมของ บุคคลตามคุณลักษณะ ที่สำคัญในด้านความรู้ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม เพื่อรับรองความรู้ ความสามารถของผู้เข้ารับการประเมินให้เป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้ เท่ากับระดับการศึกษาของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้เข้ารับการประเมินต้องลงทะเบียนเข้ารับการประเมินและเสียค่าลงทะเบียน จากนั้นจัดทำแฟ้มผลงานตามองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ และเตรียมตัวเข้ารับการประเมิน โดยมีการสอบข้อเขียน ปฏิบัติ และสัมภาษณ์ ตามวิธีการที่สถานศึกษากำหนด รูปแบบนี้ เหมาะสมกับผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์การทำงาน ไม่ต้องมาเรียนแต่ต้องเตรียมองค์ความรู้ของตนเพื่อเข้ารับการประเมิน เปิดบริการประเมิน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
สาระการจัดการศึกษานอกโรงเรียน แบบพบกลุ่ม
การจัดการศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ได้ยึดสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 โดยมีการปรับสาระการเรียนรู้ในแต่ละระดับการศึกษาให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนการศึกษานอกระบบ ดังนี้
1. สาระการเรียนรู้ที่ต้องเรียนในแต่ละระดับการศึกษา สาระการเรียนรู้การศึกษานอกโรงเรียน มี 8 หมวดวิชา ประกอบด้วย กลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน 4 หมวดวิชา ได้แก่ หมวดวิชาภาษาไทย หมวดวิชาคณิตศาสตร์ หมวดวิชาวิทยาศาสตร์ และหมวดวิชาภาษาต่างประเทศ และหมวดวิชาประสบการณ์ 4 หมวดวิชา ได้แก่ หมวดวิชาพัฒนาสังคมและชุมชน หมวดวิชาพัฒนาทักษะชีวิต 1 (พลานามัย) หมวดวิชาพัฒนาทักษะชีวิต 2 (ดนตรีและนาฏศิลป์) และหมวดวิชาพัฒนาอาชีพ ซึ่งผู้เรียนทุกระดับการศึกษาต้องเรียนให้ครบทั้งกลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน และกลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์
2. กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้นำมวลประสบการณ์และทักษะ ที่ได้จากการเรียนรู้ตามหลักสูตร ไปพัฒนาความรู้ความสามารถของตนตามศักยภาพเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่จัดให้เรียน รู้ในหมวดวิชาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยใช้กระบวนการ คิดเป็น ในการดำเนินกิจกรรมบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม และกระบวนการกลุ่มอันจะส่งผลให้ผู้เรียน เป็นคนดี มีคุณธรรม และมีความสุข ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นเงื่อนไขที่ผู้เรียนทุกคนต้องทำก่อนการจบหลักสูตร โดยให้ผู้เรียนทำกิจกรรมดังกล่าวทุกภาคเรียน หรือภาคเรียนใดภาคเรียนหนึ่งรวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง โดยสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอบรมหรือการเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ต่อสังคม มานับรวมเป็นกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ทั้งนี้กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
2.1 กิจกรรมพัฒนาตนเองและครอบครัว เป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสิ่งแวดล้อมของครอบครัว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต อยู่ร่วมในสังคมและชุมชน ได้อย่างมีความสุข
2.2 กิจกรรมพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ตลอดจนการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน
จำนวนหน่วยกิตที่ต้องเรียนตลอดหลักสูตร
ในแต่ละระดับการศึกษา ได้กำหนดค่าสาระการเรียนรู้ในแต่ละหมวดวิชาเป็นหน่วยกิต โดยกำหนดให้ 1 หน่วยกิต ใช้เวลาเรียน 40 ชั่วโมง จำแนกได้ดังนี้
ระดับประถมศึกษา
ผู้เรียนต้องลงทะเบียนเรียนไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต ประกอบด้วยกลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน จำนวน 4 หมวดวิชา หมวดวิชาละ 5 หน่วยกิต รวม 20 หน่วยกิต กลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์ จำนวน 4 หมวดวิชา หมวดวิชาละ 7 หน่วยกิต รวม 28 หน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ผู้เรียนต้องลงทะเบียนเรียนไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต ประกอบด้วย กลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน จำนวน 4 หมวดวิชา หมวดวิชาละ 6 หน่วยกิต รวม 24 หน่วยกิต กลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์ จำนวน 4 หมวดวิชา หมวดวิชาละ 8 หน่วยกิต รวม 32 หน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ผู้เรียนต้องลงทะเบียนเรียนไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต ประกอบด้วย กลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน จำนวน 4 หมวดวิชา หมวดวิชาละ 7 หน่วยกิต รวม 28 หน่วยกิต กลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์ จำนวน 4 หมวดวิชา หมวดวิชาละ 12 หน่วยกิต รวม 48 หน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง
เวลาเรียน
การจัดการศึกษา โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ตามหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ปีการศึกษาหนึ่งแบ่งออกเป็น 2 ภาคเรียน ประมาณภาคเรียนละ 20 สัปดาห์ ใช้เวลาเรียนตลอดหลักสูตรแต่ละระดับการศึกษาไม่น้อยกว่า 4 ภาคเรียน ยกเว้นในกรณีที่มีการเทียบโอนผลการเรียน สามารถจบหลักสูตร ก่อน 4 ภาคเรียนได้
การลงทะเบียนเรียน
การลงทะเบียนเรียนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผู้เรียนจะต้องลงทะเบียนเรียนตลอดหลักสูตรแต่ละระดับการศึกษา ภาคเรียนละไม่เกิน 2 หมวดวิชา ในหลักสูตร นี้ไม่มีการเปิดเรียนภาคฤดูร้อน เนื่องจากเวลาเพียง 1 เดือน ไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามหลักสูตรกำหนด
โครงสร้างหลักสูตร
การจัดโครงสร้างหลักสูตร ตามเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ตามหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ในแต่ละระดับการศึกษาประกอบด้วยกลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน กลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีแผนภูมิโครงสร้างหลักสูตรดังนี้
โครงสร้างหลักสูตรตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน
ระดับประถมศึกษา
โครงสร้างหลักสูตรตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
หลักสูตรตามโครงสร้างหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
6. การประเมินคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียนระดับชาติ
ในการประเมินผลการเรียน นอกจากจะต้องมีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ดังกล่าวแล้ว ผู้เรียน ต้องเข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียนระดับชาติ ในหมวดวิชาที่สำคัญก่อนจบการศึกษา แต่ละระดับด้วย เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการพิจารณาส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษามีคุณภาพที่ใกล้เคียงกันต่อไป การประเมินคุณภาพการศึกษานอกโรงเรียนระดับชาติ ไม่มีผลต่อการ ได้ – ตก ของนักศึกษา แต่มีผล ต่อคุณภาพของสถานศึกษา
7. การเทียบโอนผลการเรียน
การเทียบโอนผลการเรียน ผู้เรียนสามารถเทียบโอนผลการเรียนได้ 4 ประเภท ดังนี้
1. การเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ เข้าสู่หลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 มี 3 ชนิด ดังนี้
1.1 ผู้เรียนที่ศึกษาต่อในระบบโรงเรียน หรือ วิทยาลัย แล้วลาออกกลางคัน สามารถนำ ผลการเรียนที่ได้จากในระบบโรงเรียน หรือวิทยาลัยมาเทียบโอน ตั้งแต่ภาคเรียนแรก ของการลงทะเบียนเรียน
1.2 ผู้เรียนที่ศึกษาจากหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนแล้วลาออกกลางคัน สามารถนำ ผลการเรียนที่ได้จากสถานศึกษาเดิม มาเทียบโอนตั้งแต่ภาคเรียนแรกของการลงทะเบียนเรียน
1.3 ผู้ที่เรียนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น หรือหลักสูตรฝึกอบรมที่มีเนื้อหาสาระอยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน รวมกันให้ได้จำนวนชั่วโมงครบตามเกณฑ์แต่ละระดับการศึกษาที่ขอเทียบโอน ดังนี้
ระดับประถมศึกษา นับรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 280 ชั่วโมง
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นับรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 320 ชั่วโมง
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นับรวมกันได้ไม่น้อยกว่า 480 ชั่วโมง
สามารถเทียบโอนได้ในหมวดวิชาพัฒนาสังคมและชุมชน พัฒนาทักษะชีวิต 1 พัฒนาทักษะชีวิต 2 พัฒนาอาชีพ จำนวน 1 หมวดวิชา
วิธีการ ให้นำหลักฐานการศึกษามาขอเทียบโอนผลการเรียนที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาศัยอำเภอ ทุกแห่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ผู้เรียนสมัครเป็นนักศึกษา
2. การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรต่างประเทศ
การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรต่างประเทศ เป็นการนำผลการเรียนจากหลักสูตรต่างประเทศ ที่ศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเทียบโอนเข้าสู่หลักสูตรการศึกษาขั้น พื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ตั้งแต่ภาคเรียนแรก ของการลงทะเบียนเรียน
วิธีการ ให้นำหลักฐานการศึกษามาขอเทียบโอนผลการเรียนที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาศัยอำเภอ ที่สมัครเป็นนักศึกษา
3. การเทียบโอนความรู้ และประสบการณ์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เป็นการนำประสบการณ์ การประกอบอาชีพ ตามลักษณะของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เข้าสู่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ซึ่งแบ่งได้ 9 ประเภท ดังนี้
ประเภท
|
คุณสมบัติที่ขอเทียบโอน
|
หลักฐานที่เทียบโอน
|
1. ทหารกองประจำการ |
เป็นหรือเคยเป็นทหารกองประจำการ ตลอดระยะเวลา 2 ปี หรือครบตาม พระราชบัญญัติการรับราชการทหารกำหนด |
หนังสือรับรองการปลดประจำการจาก ผู้บังคับกองร้อยอิสระ หรือผู้บังคับการเรือชั้น 3 ขึ้นไป หรือสมุดประจำตัวทหารกองหนุน (กรณีปลดประจำการแล้ว) |
2. อาสาสมัครสาธารณสุข |
เป็นหรือเคยเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข |
บัตรประจำตัวอาสาสมัครสาธารณสุข หรือหนังสือรับรองจาก ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัด / อำเภอ / ตำบล เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน (กรณีเคยเป็นแต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นแล้ว) |
3. ผู้นำท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น |
เป็นหรือเคยเป็นผู้นำท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น |
หนังสือรับรองการเป็น หรือเคยเป็นผู้นำท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น |
4. สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน |
1. ต้องไม่เป็นนักเรียน หรือนักศึกษาในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา หรือระดับที่เทียบเท่า ของสถานศึกษาอื่น
2. ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544
3. ต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน หรือกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน
|
มีหลักฐานรับรองว่าปัจจุบัน เป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน หรือกลุ่มเครดิต ยูเนี่ยน โดยประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เครดิต ยูเนี่ยน หรือประธานคณะกรรมการดำเนินการกลุ่มเครดิต ยูเนี่ยนรับรองสถานภาพ |
5. เกษตรกร |
1. ต้องไม่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา ในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาหรือระดับที่เทียบเท่า ของสถานศึกษาอื่น
2. ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา การศึกษานอกโรงเรียน ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน หลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544
3. ต้องเป็นหรือเคยเป็นอาสาสมัครเกษตรกร หรืออาสาสมัครยุวเกษตร และในกรณีที่พ้นจากการเป็นอาสาสมัครเกษตรกร หรืออาสาสมัครยุวเกษตร จะต้องไม่เกิน 5 ปี นับจากวันที่พ้นจากหน้าที่ จนถึงวันที่ยื่นความจำนงขอเทียบโอน
4. ต้องมีหลักฐานว่าผ่านการอบรม อาสาสมัครเกษตร หรืออาสาสมัคร ยุวเกษตร
|
1. มีหลักฐานแสดงว่าเป็น หรือเคยเป็นอาสาสมัครเกษตร หรืออาสาสมัคร ยุวเกษตร และรับรองการทำกิจกรรมกลุ่ม โดยมีเกษตรตำบล เกษตรอำเภอ กำนัน หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล บุคคลใดบุคคลหนึ่ง รับรองการปฏิบัติหน้าที่
2. มีเอกสารหลักฐานว่าผ่านการฝึกอบรม หลักสูตรกลางสำหรับอบรมอาสาสมัครเกษตร หรืออาสาสมัครยุวเกษตร
3. มีเอกสารหลักฐานหรือภาพถ่าย ที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติกิจกรรม ที่กำหนดในบทบาทหน้าที่
|
6. สมาชิกสหกรณ์การเกษตร |
1. ต้องไม่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา ในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา หรือระดับที่เทียบเท่าของสถานศึกษาอื่น
2. ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาตามหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน หลักสูตรการศึกษาขึ้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544
3. ต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร
4. ในกรณีสมาชิกที่เป็นหรือเคยเป็น ผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตร ต้องมีหลักฐานการรับรองจากสหกรณ์
|
มีหลักฐานรับรองว่าเป็น สมาชิกสหกรณ์หรือผู้นำสหกรณ์ภาคการเกษตร และรับรองการเข้าร่วมกิจกรรม โดยประธานกรรมการดำเนินการ หรือกรรมการที่ได้รับมอบหมายของ สหกรณ์ |
7. แรงงานไทยที่ผ่านการทดสอบ มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ |
ผ่านการทดสอบมาตรฐาน ฝีมือแรงงานแห่งชาติด้านอุตสาหกรรม |
- วุฒิบัตรแสดงผลการทดสอบ มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
- หนังสือรับรองจากนายจ้าง (ถ้ามี)
|
8. การเทียบโอนผลการเรียนรู้ จากการศึกษาเพื่อพัฒนา |
ผู้ขอเทียบโอนผลการเรียน จะต้องผ่านกิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ ตามวิธีการที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยกำหนด |
- วุฒิบัตรหรือใบสำคัญหรือใบรับรอง การผ่านกิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ
- เอกสารหลักฐานหรือภาพถ่ายที่แสดง กระบวนการหรือผลงานการพัฒนาอาชีพ
|
9. การเทียบโอนผลการเรียน |
- ผู้ขอเทียบโอนผลการเรียนรู้ จะต้องผ่านกิจกรรมวิสาหกิจชุมชน ตามวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ของ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
- ผู้ขอเทียบโอนผลการเรียนจะต้องเป็นสมาชิก และมีหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน(แห่งใดแห่งหนึ่ง) มาไม่น้อยกว่า 1 ปี และดำเนินการต่อเนื่อง มาถึงวันขอเทียบโอน
|
- มีหลักฐานรับรองการเป็น สมาชิกวิสาหกิจชุมชน
- มีหลักฐานแสดงการผ่านการฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติในหลักสูตร ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชน
- เอกสารหลักฐานหรือภาพถ่าย ที่แสดงกระบวนการหรือผลงานของตนเอง ในกิจกรรมวิสาหกิจชุมชนอย่างใดอย่างหนึ่ง
|
4. การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ กลุ่มเป้าหมายทั่วไป
เป็นการประเมินความรู้และประสบการณ์ ทำได้โดยการประเมินความรู้และประสบการณ์ที่เกิดจากการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย ตลอดจนการฝึกอาชีพ และประสบการณ์จากการทำงาน โดยผู้เข้ารับการประเมินต้องมีความรู้ ทักษะ ความสามารถที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ในหมวดวิชา ที่จะขอเทียบโอน มีขั้นตอนดังนี้
1. การประเมินเบื้องต้น ผู้เข้ารับการเทียบโอนต้องเข้ารับการประเมินเบื้องต้นกับสถานศึกษา ที่ตนขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น แบบทดสอบ สัมภาษณ์ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า ผู้เข้ารับการประเมินมีความรู้ ทักษะ และความสามารถในหมวดวิชาที่จะขอประเมินจริง จึงจะให้เขียนคำร้อง ขอเข้ารับการประเมินต่อไป
2. วิธีการประเมินความรู้และประสบการณ์ จะใช้วิธีประเมินจากหลักฐานเชิงประจักษ์หรือให้ผู้เข้ารับการประเมิน ประเมินระดับความสามารถ พร้อมหลักฐานประกอบความสามารถนั้น เพื่อเปรียบเทียบสิ่งที่ ผู้เข้ารับการประเมินมีอยู่และสามารถทำได้ ตรงกับตัวบ่งชี้ระดับในหมวดวิชาที่ขอประเมิน โดยมีวิธีการดังนี้ทดสอบความรู้ จัดทำแฟ้มผลงาน ประเมินการปฏิบัติ สัมภาษณ์ประกอบแฟ้มผลงาน ทำใบงาน ประเมินโดยคณะกรรมการหมวดวิชาละไม่น้อยกว่า 3 คน
3. การตัดสินผลการประเมิน ผู้เข้าประเมินจะต้องได้คะแนนรวมทุกสาระในแต่ละหมวดวิชาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จึงจะถือว่า ผ่าน โดยให้ค่าคะแนนดังนี้
ได้คะแนน 80 – 100 |
ให้ระดับ 4 |
หมายถึง |
ผ่าน ดีเยี่ยม |
ได้คะแนน 75 – 79 |
ให้ระดับ 3.5 |
หมายถึง |
ผ่าน ดีมาก |
ได้คะแนน 70 – 74 |
ให้ระดับ 3 |
หมายถึง |
ผ่าน ดี |
ได้คะแนน 65 – 69 |
ให้ระดับ 2.5 |
หมายถึง |
ผ่าน ค่อนข้างดี |
ได้คะแนน 60 – 64 |
ให้ระดับ 2 |
หมายถึง |
ผ่าน น่าพอใจ |
ได้คะแนน 55 – 59 |
ให้ระดับ 1.5 |
หมายถึง |
ผ่าน พอใช้ |
ได้คะแนน 50 – 54 |
ให้ระดับ 1 |
หมายถึง |
ผ่านเกณฑ์ขึ้นต่ำที่กำหนด |
ได้คะแนน 0 – 49 |
ให้ระดับ 0 |
หมายถึง |
ไม่ผ่าน (ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด) |
|
กรณีหมวดวิชาใดประเมินแล้วได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 50 ให้ผลการประเมินเป็น “ไม่ผ่าน” หากคะแนนรวมได้มากกว่าร้อยละ 50 ให้เป็น “ผ่าน” จำนวนหมวดวิชาที่จะให้ประเมินความรู้และประสบการณ์ได้ให้อยู่ในดุลยพินิจของสถานศึกษา และผู้เข้ารับการประเมินจะต้องมีเวลาเรียนในสถานศึกษาไม่น้อยกว่า 1 ภาคเรียน ทั้งนี้ ในหมวดวิชาใดที่เข้ารับการประเมินกำลังลงทะเบียนเรียน หรือที่สอบผ่านแล้ว หรือผ่านการประเมินความรู้และประสบการณ์แล้วจะขอประเมินในหมวดวิชานั้นอีกมิได้ |
|
การย้ายสถานที่พบกลุ่ม และย้ายสถานศึกษา
1. การย้ายสถานที่พบกลุ่ม
- ให้ผู้เรียนยื่นคำร้องขอย้ายสถานที่พบกลุ่มต่อ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ ที่ตนสมัครเป็นนักศึกษาอยู่
- เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะไปพบกลุ่ม ณ สถานที่พบกลุ่มใหม่ได้
2. การย้ายสถานศึกษา
- ให้ผู้เรียนยื่นคำร้องขอย้ายสถานศึกษา พร้อมแนบหลักฐานดังนี้
1. รูปถ่ายขนาด 1.5 นิ้ว จำนวน 2 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน สวมเสื้อเชิ้ตขาวไม่มีลวดลายและอักษรปักใด ๆ หรือเครื่องแบบชุดสากล พร้อมเขียน ชื่อ – นามสกุล หลังรูป (ไม่ใช้รูปถ่ายแบบด่วนหรือรูปโพลาลอยด์)
2. ใบประกาศนียบัตร หรือใบรบ. ที่เป็นวุฒิก่อนเข้าเรียน ถ่ายสำเนา 1 ฉบับ พร้อมนำฉบับจริงมาแสดงด้วย
3. สำเนาทะเบียนบ้านจำนวน 1 ฉบับ
4. บัตรประจำตัวนักศึกษา
5. ใบสำคัญเปลี่ยนชื่อและนามสกุล (ถ้ามี) ถ่ายสำเนา 1 ฉบับ พร้อมฉบับจริงมาแสดงด้วย
- ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ ออกใบระเบียนแสดงผลการเรียนให้นักศึกษา เพื่อนำไปแสดงต่อสถานศึกษาใหม่ที่จะไปเรียน
กำหนดวัน เปิด/ปิด ภาคเรียนและเวลาเรียน
ในปีการศึกษาหนึ่ง แบ่งการเรียนออกเป็น 2 ภาคเรียน ดังนี้
ภาคเรียนที่ 1 วันเปิดภาคเรียน วันที่ 16 พฤษภาคม
วันปิดภาคเรียน วันที่ 10 ตุลาคม
ภาคเรียนที่ 2 วันเปิดภาคเรียน วันที่ 1 พฤศจิกายน
วันปิดภาคเรียน วันที่ 1 เมษายน
หนึ่งภาคเรียนจะมี 20 สัปดาห์ นักศึกษาจะต้องมีเวลาพบกลุ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนครั้งที่จัดให้มีการพบกลุ่มจึงจะมีสิทธิ์เข้าสอบปลายภาค ระยะเวลาเรียนต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 4 ภาคเรียน ยกเว้นกรณีที่มีการเทียบโอนผลการเรียน
การยื่นคำร้องขอจบการศึกษา
เมื่อผู้เรียนสอบผ่านเกณฑ์ที่ครบหมวดวิชาตามหลักสูตรแล้ว จะต้องยื่นคำร้องขอจบการศึกษาและขอรับใบประกาศนียบัตรที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ โดยนำหลักฐานต่อไปนี้ มาประกอบ
1. รูปถ่ายขนาด 1.5 นิ้ว จำนวน 2 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน สวมเสื้อเชิ้ตสีขาวไม่มีลวดลายและอักษรปักใด ๆ หรือเครื่องแบบชุดสากล พร้อมเขียน ชื่อ – นามสกุล หลังรูป (ไม่ใช้รูปถ่ายด่วนหรือโพลาลอยด์)
2. ใบประกาศนียบัตร หรือใบรบ. ที่เป็นวุฒิก่อนเข้าเรียน ถ่ายสำเนา 1 ฉบับ พร้อมนำฉบับจริง มาแสดงด้วย
3. สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ฉบับ
4. บัตรประจำตัวนักศึกษา
5. ใบสำคัญเปลี่ยนชื่อและนามสกุล (ถ้ามี) ถ่ายสำเนา 1 ฉบับ พร้อมฉบับจริงมาแสดงด้วย
ศักดิ์ สิทธิ์ และการนำไปใช้
หลักฐานการเรียนหรือประกาศนียบัตรที่นักศึกษาได้รับจากการเรียน ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียนนี้ จะมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับการเรียนในระบบโรงเรียนตามปกติทุกประการ
ความรู้ที่ได้รับสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นพื้นฐานปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตนเอง ให้ดียิ่งขึ้นหรือผู้ประสงค์จะเรียนต่อไประดับที่สูงขึ้น ก็สามารถนำหลักฐานการเรียนและใบประกาศนียบัตรไปใช้ศึกษาต่อในสถาบัน ต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกัน
หลักฐานการสมัคร
ผู้สมัครต้องเตรียมหลักฐานการสมัครให้ถูกต้องครบถ้วน ดังนี้
1. ใบสมัครเป็นนักศึกษา
2. รูปถ่าย 1.5 นิ้ว จำนวน 2 รูป หน้าตรงไม่สวมแว่นตาดำ และไม่สวมหมวก สวมเสื้อสีขาวมีปก หรือชุดสุภาพ
(ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน และไม่ใช้รูปถ่ายประเภทโพลาลอยด์ เพื่อใช้ติดใบสมัคร 1 รูป ติดบัตรประจำตัว 1 รูป)
3. สำเนาทะเบียนบ้านตนเองที่มีชื่อบิดามารดา พร้อมฉบับจริงไปแสดง
4. สำเนาหนังสือสำคัญแสดงวุฒิ พร้อมฉบับจริงไปแสดง
5. สำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมฉบับจริงไปแสดง เช่น ใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล ใบทะเบียนสมรส ใบหย่า ฯลฯ
การปฏิบัติตนของนักศึกษา
ผู้เรียนในสถานศึกษา สังกัดของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดฉะเชิงเทรา
1. ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับอย่างเคร่งครัด
2. ต้องแต่งกายตามระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษา
3. ต้องปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี
4. ต้องรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีระหว่างกันในหมู่คณะ
5. ต้องไม่ทำอันตรายหรือทำให้เสียหายชำรุด หรือบกพร่องซึ่งทรัพย์สินของสถานศึกษาและผู้อื่น
6. ต้องไม่เล่นการพนันหรือมีอุปกรณ์การพนันไว้ในครอบครอง และไม่นำพามาในสถานศึกษา
7. ต้องไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ และสิ่งเสพติดในห้องเรียนโดยเฉพาะในสถานที่พบกลุ่ม
8. ต้องไม่ประพฤติตนขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ
9. ไม่นำความเสื่อมเสียมาสู่สถานศึกษาที่ตนสังกัดอยู่
10. ไม่ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายต่อผู้อื่น
การพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา
นักศึกษาจะพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาเมื่อ
1. สำเร็จการศึกษา
2. ลาออก
3. ตาย
4. ออกตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา
5. ไม่ลงทะเบียนเพื่อรักษาสภาพเป็นนักศึกษาเป็นเวลา 6 ภาคเรียนติดต่อกัน
6. ขาดคุณสมบัติการเป็นนักศึกษาสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
แนวทางในการจัดกระบวนการเรียนรู้คอมพิวเตอร์
1. ผู้เรียนทุกคนที่ลงทะเบียนเรียนหมวดวิชาพัฒนาอาชีพและเทคโนโลยี ต้องผ่านการฝึกปฏิบัติคอมพิวเตอร์ และผู้เรียนทุกระดับต้องมีความรู้ความสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างงานและ ค้นคว้าข้อมูล ในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้
2. ผู้เรียนที่เรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หรือมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถสะสมโปรแกรมที่เรียนได้โดยไม่ต้องเรียนซ้ำในโปรแกรมที่เรียนไปแล้ว หรือมีความรู้แล้วจากระดับ การเรียนที่ต่ำกว่า
3. วิธีการลงทะเบียนเรียน สามารถแบ่งเรียนเป็นแต่ละโปรแกรมได้ แล้วนำมาสะสมเพื่อให้ครบตามโครงสร้างหลักสูตรสาระที่ 4 เทคโนโลยีสารสนเทศ
4. ผู้เรียนคนใดลงทะเบียนเรียนในโปรแกรมใดแล้ว ไม่สามารถมาเรียนได้ครบตามระยะเวลา ที่ลงทะเบียนเรียนไว้ สามารถที่จะมาเรียนให้ครบตามโครงสร้างหลักสูตรได้ในภายหลัง แต่ต้องเป็นช่วงเวลา ที่ไม่กระทบการจัดการสอนของรุ่นอื่น เช่น การเรียนช่วงเช้า – บ่าย ในวันจันทร์ – ศุกร์ หรือในรุ่นที่กำหนดไว้ แต่มีผู้ลงทะเบียนเรียนไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้แต่ละรุ่น
5. เมื่อเรียนครบตามโครงสร้างหลักสูตร และผ่านการประเมินแล้ว หากผู้เรียนต้องการเรียนซ้ำ ในโปรแกรมเดิม หรือต้องการฝึกใช้คอมพิวเตอร์เพื่อให้เกิดความชำนาญ สามารถกระทำได้และเสียค่าใช้จ่ายตามจำนวนชั่วโมงหรือโปรแกรมที่ต้องการ
6. สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนในแต่ละรุ่น ครั้งละ 2 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมง ได้ตามความเหมาะสม
7. ให้สถานศึกษาออกวุฒิบัตรให้กับผู้เรียน เมื่อจบแต่ละโปรแกรมหรือรวมทุกโปรแกรม เพื่อเป็นหลักฐานในการประกอบการเทียบโอนหรือให้ผู้เรียนนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ
สาระการเรียนรู้หมวดวิชา
หลักสูตรขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียนประกอบด้วย 8 หมวดวิชา คือ กลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน 4 หมวดวิชา กลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์ 4 หมวดวิชา โดยมีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มหมวดวิชาพื้นฐาน
หมวดวิชา ภาษาไทย
สาระที่เป็นองค์ความรู้ของหมวดวิชาภาษาไทย ประกอบด้วย
สาระที่ 1 การอ่าน
สาระที่ 2 การเขียน
สาระที่ 3 การฟัง การดู และการพูด
สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษา
สาระที่ 5 วรรณคดีและวรรณกรรม
หมวดวิชา คณิตศาสตร์
สาระที่เป็นองค์ความรู้ของหมวดวิชาคณิตศาสตร์ ประกอบด้วย
สาระที่ 1 จำนวนและการดำเนินการ
สาระที่ 2 การวัด
สาระที่ 3 เรขาคณิต
สาระที่ 4 พีชคณิต
สาระที่ 5 การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น
สาระที่ 6 ทักษะ/กระบวนการทางคณิตศาสตร์
หมวดวิชา วิทยาศาสตร์
สาระที่เป็นองค์ความรู้ของหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย
สาระที่ 1 สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
สาระที่ 2 ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
สาระที่ 3 สารและสมบัติของสาร
สาระที่ 4 แรงและการเคลื่อนที่
สาระที่ 5 พลังงาน
สาระที่ 6 กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก
สาระที่ 7 ดาราศาสตร์และอวกาศ
สาระที่ 8 ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หมวดวิชา ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)
สาระที่เป็นองค์ความรู้ของหมวดวิชาภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วย
สาระที่ 1 ภาษาเพื่อการสื่อสาร
สาระที่ 2 ภาษาและวัฒนธรรม
สาระที่ 3 ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
สาระที่ 4 ภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก
กลุ่มหมวดวิชา ประสบการณ์
หมวดวิชา พัฒนาทักษะ 1 (สุขศึกษาและพลานามัย)
สาระที่เป็นองค์ความรู้ของหมวดวิชาพัฒนาทักษะ 1 ประกอบด้วย
สาระที่ 1 การเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์
สาระที่ 2 ชีวิตและครอบครัว
สาระที่ 3 การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การเล่นเกม กีฬาไทยและกีฬาสากล
สาระที่ 4 การสร้างเสริมสุขภาพ สมรรถภาพและการป้องกันโรค
สาระที่ 5 ความปลอดภัยในชีวิต
หมวดวิชา พัฒนาทักษะชีวิต 2 (ดนตรี นาฏศิลป์)
สาระที่เป็นองค์ความรู้ของหมวดวิชาพัฒนาทักษะชีวิต 2 ประกอบด้วย
สาระที่ 1 ทัศนศิลป์
สาระที่ 2 ดนตรี
สาระที่ 3 นาฏศิลป์
หมวดวิชา พัฒนาสังคมและชุมชน
สาระที่เป็นองค์ความรู้ของหมวดวิชาพัฒนาสังคมและชุมชน ประกอบด้วย
สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม
สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม
สาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์
สาระที่ 4 ประวัติศาสตร์
สาระที่ 5 ภูมิศาสตร์
หมวดวิชา พัฒนาอาชีพ
สาระที่เป็นองค์ความรู้ของหมวดวิชาพัฒนาอาชีพ ประกอบด้วย
สาระที่ 1 การดำรงชีวิตและครอบครัว
สาระที่ 2 การอาชีพ
สาระที่ 3 การออกแบบและเทคโนโลยี
สาระที่ 4 เทคโนโลยีสารสนเทศ
สาระที่ 5 เทคโนโลยีเพื่อการทำงานและอาชีพ
การจัดกระบวนการเรียนรู้
การจัดกระบวนการเรียนรู้ตลอดหนึ่งภาคเรียนนั้น มีกิจกรรมการเรียนรู้อยู่ 4 กิจกรรม ที่ครูจะต้องดำเนินการ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ คือ การจัดการเรียนรู้โดยการพบกลุ่ม การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่องโดยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง การทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) กิจกรรมการเรียนรู้ดังกล่าวจะเกิดผลดีกับผู้เรียนได้นั้น ครูต้องเน้นย้ำให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบ มีวินัยในตนเอง ฝึกนิสัยให้เกิดความสนใจใฝ่รู้ ทำกิจกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ในแต่ละสัปดาห์ครูจะต้องกำหนดให้ผู้เรียนแต่ละคนใช้เวลาศึกษาเรียนรู้เพื่อ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
1. การพบกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง/สัปดาห์
2. การทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่องโดยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง การทำกิจกรรมตามที่มอบหมาย อย่างน้อย 15 ชั่วโมง/สัปดาห์
3. การทำโครงงาน อย่างน้อย 3 ชั่วโมง/สัปดาห์ รวมเวลาที่ใช้ในการพบกลุ่ม กิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง โดยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง การทำกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมาย และการทำโครงงานอย่างน้อย 21 ชั่วโมง/สัปดาห์
4. การสอนเสริม โดยครูหรือวิทยากรตามที่วางแผนไว้
5. การทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) จำนวน 100 ชั่วโมง
1. การจัดการเรียนรู้โดยการพบกลุ่ม
ในทุกสัปดาห์ครูจะต้องจัดให้มีการพบกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนด้วยกันโดยมีครู เป็นผู้อำนวยความสะดวก กระตุ้นเสริมแรง ให้คำปรึกษา และให้ข้อเสนอแนะโดยใช้เวลาในการพบกลุ่มไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง เพื่อทำกิจกรรม คือ
1.1 การนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองหรืองานกลุ่มเป็นการทำกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมาย การจัดการเรียนรู้เช่นนี้ ให้นักศึกษานำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ซึ่งครูได้มอบหมายให้แต่ละคน ไปศึกษาค้นคว้าไว้ล่วงหน้าแล้ว ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้เรียนต่างก็ช่วยกันเรียนและเติมเต็มความรู้ แก่กันและกัน
1.2 การนำเสนอโครงงาน ผู้เรียนจะนำเสนอความคิด และความก้าวหน้าในการทำโครงงานต่อกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนคนอื่นและครูช่วยกันวิเคราะห์ ซักถาม ให้ข้อเสนอแนะ คำแนะนำ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการต่อยอดทางความคิดและนำไปสู่การพัฒนาโครงงานในสัปดาห์ต่อไป การนำเสนอโครงงานเช่นนี้ จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกกลุ่มจนสิ้นสุดภาคเรียน
1.3 การสอบย่อย (Quiz) เป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจสาระเนื้อหา โดยครูและสถานศึกษา (กศน.อำเภอ/กศน.เขต) เป็นผู้จัดทำข้อทดสอบย่อย ในลักษณะ ถาม-ตอบ (Quiz) ให้ผู้เรียนตอบคำถาม เป็นข้อเขียนสั้น ๆ ซึ่งสรุปความคิดรวบยอด ที่เป็นความรู้ความเข้าใจของตัวผู้เรียนเอง
1.4 จัดการเรียนการสอนตามสาระที่ได้วางแผนร่วมกันไว้แล้ว โดยครูเป็นผู้สอนเพิ่มเติมความรู้หรือเนื้อหาสาระที่จำเป็นซึ่งนักศึกษายังไม่เข้าใจและต้องการจะเรียนรู้
1.5 ฝึกกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนวิเคราะห์ สังเคราะห์ และแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง จากกลุ่ม จากสื่อ โดยครูเป็นผู้กระตุ้นและเสริมแรงให้ผู้เรียนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาการพบกลุ่ม การแสดงออกของผู้เรียนที่มีหลายรูปแบบ เช่น การฟังอย่างตั้งใจในสิ่งที่มีผู้นำเสนอ ช่วยคิดตั้งคำถามให้คิด ร่วมอภิปราย ให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์
1.6 วางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง เป็นการกำหนดข้อตกลงร่วมกัน นัดหมายกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้เรียนต้องทำระหว่างสัปดาห์ รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ครูจะต้องเน้นย้ำให้ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้าตามแผนการเรียนรู้ที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้ เน้นเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่จะนำเสนอสัปดาห์ต่อไป และกำหนดภารกิจสำหรับผู้เรียนคนอื่น ๆ ด้วย
2. การจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง
เป็นการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับผู้เรียนที่ถือว่าเป็นผู้ที่มี วุฒิภาวะ มีความรับผิดชอบ มีประสบการณ์และมีข้อจำกัดในการทำงานและการประกอบอาชีพ ดังนี้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่องจึงใช้หลักการเรียนด้วยตนเอง โดยผู้เรียนศึกษาค้นคว้า หรือเรียนรู้ด้วยตนเอง ในหัวข้อที่ไม่ยากเกินไปในลักษณะกลุ่ม หรือรายบุคคลและอยู่ในวิสัยที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองได้ มีการจดบันทึกหรือเรียบเรียงความรู้นั้นไว้ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานหรือร่องรอยของการเรียนรู้ ผู้เรียนอาจจดบันทึกลงสมุดหรือทำเป็นแฟ้มสะสมงานในแต่ละหมวดวิชาของผู้เรียน แต่ละคน หรือแต่ละกลุ่ม ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมาย โดยผู้เรียนจะศึกษาค้นคว้าต่อเนื่อง จดบันทึก และนำเสนอในการพบกลุ่ม เน้นเติมเต็มความรู้ซึ่งกันและกัน ผู้เรียนจะใช้เวลาสัปดาห์ละประมาณ 15 – 20 ชั่วโมง เพื่อการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง และทำกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมาย
2.1 กิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง มีจุดประสงค์สำคัญดังนี้
2.1.1 ฝึกให้ผู้เรียนรับผิดชอบและรู้จักแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ด้วยตนเอง
2.1.2 ฝึกให้ผู้เรียนมีนิสัยใฝ่รู้และรู้จักวิเคราะห์ กำหนดเป้าหมายความต้องการของตนเอง ในการแสวงหาความรู้
2.1.3 ฝึกผู้เรียนให้จดบันทึก เรียบเรียงและสรุปความรู้ที่ตนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ
2.1.4 ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน การศึกษาค้นคว้า อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต
การเรียนด้วยวิธีนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก และผู้เรียนจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเรียนด้วยวิธีนี้ ครูจึงมีความจำเป็นต้องใส่ใจเพิ่มขึ้นในเรื่องต่อไปนี้
1. การแนะนำ/ประสานงาน/จัดสื่อและแหล่งเรียนรู้ โดยเมื่อวางแผนการเรียนรู้กำหนดประเด็นให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเองแล้ว ครูจะต้องเป็นผู้แนะนำ หรือประสานงาน หรือช่วยเหลือในการจัดสื่อและแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้า ซึ่งสื่อและแหล่งเรียนรู้นั้นมีหลากหลายทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ (แบบเรียน หนังสือ เอกสารของหน่วยงานต่าง ๆ ) สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (รายการวิทยุ เทปเสียง รายการโทรทัศน์ วีดีทัศน์) สื่อคอมพิวเตอร์ (ซีดีรอม รวมทั้งอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญที่รวมความรู้และข้อมูลมากมาย) นอกจากนี้ยังมีแหล่งการเรียนรู้ในชุมชน (แหล่งการเรียนรู้ประเภทบุคคล ได้แก่ ผู้รู้ ภูมิปัญญา เจ้าหน้าที่ หน่วยงานต่าง ๆ และแหล่งการเรียนรู้ประเภทสถานที่ ได้แก่ ศูนย์การเรียนชุมชน ห้องสมุดประชาชน ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกศาสตร์ อุทยาน ไร่นา ป่าเขา ศูนย์การกีฬาและนันทนาการ) สื่อและแหล่งเรียนรู้เหล่านี้ ครู กศน. จะต้องรอบรู้และนำมาใช้เพื่อจัด การเรียนการสอนอย่างชาญฉลาดเพื่อให้ผู้เรียนทุกคนเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างได้ ผลดี
2. การจดบันทึก เรียบเรียงผลการเรียนด้วยตนเอง โดยครูต้องเน้นย้ำให้ผู้เรียนจดบันทึกหรือเขียนด้วยลายมือตนเองในเรื่องที่ ไปศึกษาค้นคว้า ให้ผู้เรียนจดไว้อย่างเรียบร้อยเป็นระบบด้วยตนเองเพื่อความสะดวก ในการนำเสนอในกลุ่ม โดยผู้เรียนอาจจดลงสมุดหรือจัดทำเป็นแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) ของแต่ละหมวดวิชาที่ลงทะเบียน สมุดที่จดบันทึก ผลการเรียนหรือแฟ้มสะสมงานนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการเรียนด้วย
3. การนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้า/ทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายต่อกลุ่ม ส่วนนี้มีสิ่งที่ครูต้องให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ
3.1 ผู้ที่นำเสนอ ครูต้องเน้นย้ำให้ผู้นำเสนอเตรียมตัวอย่างดี โดยเรียบเรียงความคิด เตรียมขั้นตอนการนำเสนอและนำเสนออย่างชัดเจน ครูต้องกระตุ้นให้มีการอภิปราย ซักถาม และให้ผู้นำเสนอตอบข้อสงสัยของเพื่อน ๆ ได้ หรือให้ผู้เรียนคนอื่นช่วยตอบ
3.2 ผู้เรียนที่รับฟัง ต้องตั้งใจฟัง จดบันทึก และร่วมอภิปราย ซักถาม เพื่อให้เข้าใจเรื่องนั้นอย่างชัดเจน
3.3 ครูจะต้องดูแลให้การนำเสนอเป็นไปอย่างได้ผล โดยฟังการนำเสนออย่างตั้งใจ กระตุ้นเสริมแรง ดูแลผู้เรียนคนอื่น ๆ ให้สนใจในการนำเสนอ ให้ทุกคนได้มีโอกาสซักถามเพิ่มเติมความเห็นอย่างทั่วถึง ทำให้ช่วงเวลาการนำเสนอเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวาและมีคุณค่า พฤติกรรมต่าง ๆ ช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของการประเมินเพื่อปรับปรุงแก้ไขและทำให้ เกิดความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียนในด้านต่าง ๆ
3. การจัดการเรียนรู้โดยการทำโครงงาน
“โครงงาน” (Project) คือ แผนงาน หรือกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนร่วมกันกำหนดขึ้นตามความสนใจ ความต้องการ และนำไปสู่การค้นคว้าทดลอง และลงมือปฏิบัติจริงในแต่ละภาคเรียน ผลจากการทำโครงงานคือ ผลผลิตที่เป็นองค์ความรู้ตามหมวดวิชานั้น หรือผลงานที่เป็นประโยชน์โดยมีการบูรณาการสาระอื่น ๆ ที่จำเป็นและสอดคล้องกัน
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการทำโครงงานนั้น เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียน ให้การยอมรับผู้เรียนในลักษณะของผู้ที่มีวุฒิภาวะ มีความรับผิดชอบ โดยมีความเชื่อว่าผู้เรียนจะมีแรงจูงใจและเรียนได้ดีเมื่อได้เรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ ก่อให้เกิดประโยชน์และนำไปใช้ได้ทันที การเรียนรู้โดยการทำโครงงานส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้ริเริ่ม กำหนดสิ่งที่ต้องการเรียนรู้และทำในสิ่งที่สนใจเรียนจากการปฏิบัติจริง โดยสอดแทรกบูรณาการสาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรและศึกษาหาความรู้จากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการทำโครงงานใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ในกลุ่มเพื่อต่อยอดทางความคิด และนำไปสู่การปฏิบัติโครงงานจนสิ้นภาคเรียน กระบวนการทำโครงงานจึงเป็นลักษณะของการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการ “คิด ทำ จำ แก้ปัญหา และพัฒนา”
การเรียนโดย “โครงงาน” เป็นการเรียนโดยใช้ความรู้ในหมวดวิชาหรือบูรณาการเนื้อหาต่าง ๆ ที่จำเป็น โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ และอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และกระตุ้นเสริมแรงให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่ม
3.1 ประโยชน์ของการเรียนรู้จากการทำโครงงาน
3.1.1 ผู้เรียนมีอิสระในการคิดริเริ่มโครงงานที่ตรงกับความต้องการ ความสนใจของตนเองเป็นการเรียนอย่างมีความหมาย เชื่อมโยงความรู้ใหม่กับประสบการณ์ของผู้เรียน
3.1.2 ผู้เรียนใช้ทักษะการเรียนที่สูงขึ้น และหลากหลาย มีการคิดริเริ่มการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ การสังเกต การบันทึกผลการเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้า ลงมือปฏิบัติ และสร้างข้อสรุป
3.1.3 สร้างกัลยาณมิตรในกลุ่มผู้เรียน โดยฝึกการนำเสนอ รับฟังและให้ข้อเสนอแนะ
3.1.4 เรื่องที่เรียนเป็นของจริง เป็นการเรียนที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที
3.1.5 ผู้เรียนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเองและเป็นเจ้าของโครงงานเรียนรู้นั้น
3.2 ขั้นตอนและกระบวนการเรียนรู้โดยการทำโครงงาน
การเรียนรู้ในลักษณะของ “โครงงาน” มีขั้นตอนที่สำคัญ 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : การคิดริเริ่มโครงงาน ผู้เรียนทุกคนต้องเป็นผู้คิดริเริ่มโครงงานที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง มีความสนใจและต้องการที่จะทำโดยให้ศึกษาวิเคราะห์ หมวดวิชาที่ลงทะเบียนเรียน ผู้เรียนอาจจะต้องถามตัวเองด้วยคำถามต่าง ๆ เช่น
1.1 ตนเองมีความสนใจและต้องการทำโครงงานอะไร อาจเป็นโครงงานในหมวดวิชานั้น หรือโครงงานที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ งานพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โครงงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะชีวิต และอื่น ๆ
1.2 โครงงานนั้นมีประโยชน์อย่างไร อาจจะเป็นโครงงานที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองทางด้านความรู้ พัฒนาอาชีพ การมีอาชีพรายได้ หรือโครงงานที่จะเกิดผลประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมหรือช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อม
1.3 โครงงานนั้นต้องใช้ความรู้ในเรื่องใดบ้าง โดยพิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับหมวดวิชาที่ลงทะเบียนเรื่องใด คาดว่าเกี่ยวข้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ใดบ้าง และต้องศึกษาหาความรู้อะไรอื่น ๆ อีก จากแหล่งความรู้ที่ได้จากผู้รู้ ผู้ชำนาญการ หรือภูมิปัญญาใด
1.4 เราต้องการทำโครงงานนั้นกับใครบ้าง เราอาจมีข้อจำกัดเช่น เรื่องของเวลา หรือความสนใจ จึงทำโครงงานเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กับเพื่อนที่สนใจเหมือนกัน หรือทำงานกลุ่มที่มีจำนวนคนมากขึ้น
1.5 โครงงานนี้ริเริ่มขึ้นมาใหม่ หรือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่มีอยู่ในชุมชน หากเป็นโครงงานใหม่ ในหมวดวิชานั้น ๆ ผู้เรียนต้องศึกษาสาระของหมวดวิชาโดยรวม แล้วพิจารณาว่าสนใจจะทำเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง แล้วศึกษาลงลึกเรื่องนั้น นอกจากนี้ผู้เรียนยังอาจเข้าร่วมกิจกรรมที่มีในชุมชนที่ตนสนใจ เช่น กิจกรรมทางด้านอาชีพ การพัฒนาชุมชน และสังคม โดยนำสาระในหมวดวิชาที่เกี่ยวข้องไปใช้เสริม หรือบูรณาการเข้าด้วยกันในโครงงาน
ขั้นตอนที่ 2 : ขั้นตอนการลงมือปฏิบัติ/พัฒนาโครงงาน
2.1 การลงมือทำโครงงาน ผู้เรียนในกลุ่มทุกคนต้องร่วมมือกัน มีความรับผิดชอบในการทำโครงงานตามที่ได้วางแผนไว้ การลงมือปฏิบัติครอบคลุมการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำโครงงาน เช่น ศึกษาเรื่องการปลูกสับปะรด ผู้เรียนก็อ่านหนังสือหรือสอบถามผู้รู้และลงมือปลูกจริงหรือการเข้าร่วม “โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” การศึกษาหาความรู้และเข้าร่วมทำงานในโครงงานนี้จริง หรือโครงงานที่ลงลึกในสาระการเรียนรู้ตามหมวดวิชา โดยมีการบันทึกผลการทำงานทุกขั้นตอน
2.2 การนำเสนอโครงงานในกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้เรียนจะต้องใช้การสังเกต บันทึกผลการเรียนจากการทำโครงงาน และนำเสนอผลการปฏิบัติโครงงานกับกลุ่มผู้เรียนในทุกสัปดาห์ตลอดภาคเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มผู้เรียนและครู การเสนอโครงงานในช่วงแรกเป็นการเสนอความคิดในการทำโครงงานในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป เป็นการนำเสนอผลการปฏิบัติเพื่อให้คนอื่นช่วยมอง ช่วยให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม อาจเป็นการเสนอความก้าวหน้า พร้อมความพึงพอใจหรือปัญหาอุปสรรคเป็นการนำปัญหาที่พบจากการปฏิบัติ มาเล่าสู่กันฟัง พร้อมความคิดเห็นหรือแผนที่จะทำโครงงานต่อไป การเสนอเช่นนี้จะช่วยให้เกิดการสำรวจความคิด เกิดการต่อยอดทางความคิดของกันและกัน ช่วยให้เกิดความคิดใหม่หรือแสวงหาทางเลือกใหม่ ที่จะทำต่อไปเป็นการฝึกการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากคนอื่น
ในการนำเสนอ ผู้เรียนจะต้องเตรียมตัวอย่างดี นำเสนออย่างชัดเจนถึงความก้าวหน้าในการปฏิบัติโครงงานของตน การนำเสนออาจใช้สื่อต่าง ๆ เพื่อช่วยให้น่าสนใจและมีความชัดเจน ผู้เรียนอาจนำเสนอ เป็นสื่อของจริง ภาพถ่าย ภาพวาด อาจเสนอโดยใช้สื่อคอมพิวเตอร์ตามที่ผู้เรียนจะสามารถทำได้
ประการสำคัญผู้เรียนจะต้องบันทึกกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง อาจเป็นการจดบันทึกหรือใช้เทคโนโลยี ควรบันทึกการเรียนรู้ การทำโครงงานอย่างต่อเนื่อง
ขั้นตอนที่ 3 : การสรุปผลการทำโครงงาน เนื่องจากการทำโครงงานเป็นกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติที่ผู้เรียนทำอย่างต่อเนื่อง ผู้เรียนจำเป็นต้องสรุปผลการทำโครงงานอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาผลการเรียนรู้ของตนเอง และอาจนำไปเผยแพร่ต่อไป เช่น จัดนิทรรศการ หรือจัดพิมพ์เผยแพร่
4. การสอนเสริม
การสอนเสริม มีความจำเป็นสำหรับการจัดการเรียนรู้ เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้มากขึ้น เนื่องจากมีสาระการเรียนรู้ที่ยากและซับซ้อนและระยะเวลาเรียนที่ค่อนข้าง จำกัด ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเข้าใจได้ จึงมีความจำเป็นจะต้องสอนเสริมในบางหมวดวิชาและบางสาระการเรียนรู้ที่มีความ ยาก และซับซ้อน เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ โดยทั้งผู้เรียนและครูร่วมกันวางแผน การสอนเสริม โดยเชิญวิทยากรซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ผู้รู้ ผู้ชำนาญในเนื้อหานั้น เช่น ครู อาจารย์ ที่เกษียณอายุแล้ว เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ เป็นผู้สอนเสริมหรือใช้สื่อวีดีทัศน์ประกอบการสอน การสอนเช่นนี้จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาที่ยากได้ดีขึ้น ช่วงเวลาและสถานที่ในการสอนเสริมเป็นไปตามแผนที่ร่วมกันกำหนดไว้ใช้เวลาที่ เหมาะสม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นอกเหนือจากเวลาพบกลุ่มในข้อ 1
4.1 วัตถุประสงค์ของการสอนเสริม
4.1.1 เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน มุ่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้แก่ผู้เรียนให้สูงขึ้น
4.1.2 เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้ ของหมวดวิชาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนและไม่อาจศึกษาได้ด้วยตนเอง ในหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ
4.1.3 เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสศึกษาหาความรู้จากวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะสาขาวิชา
4.1.4 เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าร่วมของประชาชน ในการเข้ามาเป็นวิทยากรสอนเสริมในรูปแบบอาสาสมัคร
4.2 วิธีการดำเนินการสอนเสริม ควรทำดังนี้
4.2.1 ครูและผู้เรียนวางแผนและปรึกษาหารืออันเกี่ยวกับรายละเอียดของหมวดวิชา และสาระการเรียนรู้ที่จะจัดสอนเสริม
4.2.2 ครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดวัน เวลา สถานที่ หมวดวิชา และสาระการเรียนรู้ และจัดทำแผน หรือปฏิทินการสอนเสริม
4.2.3 ประสานเชิญวิทยากรหรืออาสาสมัคร หรือจัดหาวีดีทัศน์การสอนเสริมในสาขาวิชาเกี่ยวกับสาระการเรียนรู้ที่จะสอนเสริม
4.2.4 จัดเตรียมสื่อหรืออุปกรณ์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่วิทยากร หรืออาสาสมัครในการสอนเสริม
4.2.5 วิทยากรสอนเสริมตามวันเวลาที่กำหนด
4.2.6 ผู้เรียนเข้ารับการสอนเสริม และบันทึกร่องรอยการเรียนรู้ในสมุดบันทึก
4.2.7 ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมหรือทำแบบฝึกหัดตามที่วิทยากรกำหนด
การสอนเสริม เป็นการรวมกลุ่มผู้เรียนที่มีปัญหาในสาระการเรียนรู้ที่ยุ่งยากซับซ้อนในแต่ละหมวดวิชา โดยสามารถเชิญวิทยากร สื่อวีดีทัศน์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ มาเติมเต็มความรู้ให้กับผู้เรียน ซึ่งสามารถทำได้ในกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย ตามความเหมาะสมและความต้องการของผู้เรียน
5. กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.)
กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) เป็นกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งในโครงสร้าง ที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 เป็นกิจกรรมที่เป็นเงื่อนไขที่ผู้เรียนทุกคนต้องทำก่อนการจบหลักสูตร โดยผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมดังกล่าวสะสมได้ทุกภาคเรียนหรือภาคเรียนเดียว ในกรณีที่ผู้เรียนมีการเทียบโอนผลการเรียนและใช้เวลาเรียน เพียงภาคเรียนเดียว รวมตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง และผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก
5.1 วัตถุประสงค์
5.1.1 เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสใช้กระบวนการกลุ่ม ได้แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์โดยฝึกทักษะความมีเหตุผล การคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น
5.1.2 เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ชุมชน สังคม อย่างแน่นแฟ้น รวมทั้ง มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
5.1.3 เพื่อปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้ผู้เรียน ผู้เรียนทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อได้รับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข
5.2 การจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
5.2.1 ครูจัดประชุมชี้แจงผู้เรียนให้เข้าใจกระบวนการจัดทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
5.2.2 ครูร่วมกับผู้เรียนจัดทำแผนการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ครบถ้วน และในภาคปฏิบัติสามารถดำเนินการภายใต้ขอบข่ายเนื้อหา ดังนี้
1) กิจกรรมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี
กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีโดยพิจารณากิจกรรมที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนยึดมั่นใน ศาสนาและปลูกฝังค่านิยมที่ดี เพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ที่ดีงามของท้องถิ่นและของชาติ
2) กิจกรรมการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาเลือกทำกิจกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนา การบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างยั่งยืน
3) กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตเกี่ยวกับการสนับสนุนงานการศึกษานอกโรงเรียน โดยพิจารณาเลือกทำกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญ เกิดความรัก ความผูกพัน และเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา นอกโรงเรียน ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการสนับสนุน แต่ต้องลงมือปฏิบัติกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสนับสนุนงานการศึกษานอกโรงเรียนโดยแท้จริง
5.2.3 ผู้เรียนรวมกลุ่มเขียนโครงการและเสนอขออนุมัติต่อสถานศึกษา ทั้งนี้โดยมีครูผู้รับผิดชอบเป็นที่ปรึกษาโครงการ
5.2.4 ครูต้องเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในการวางแผนการประสานงาน การแก้ไขปัญหา ในการปฏิบัติการจัดทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตในภาคการปฏิบัติของผู้เรียน
5.2.5 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณา และประเมินผลการปฏิบัติการโครงการกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ครูต้องทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาและกำหนดจำนวนชั่วโมง ของแต่ละกิจกรรม ก่อนขออนุมัติโครงการกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
5.2.6 นิเทศติดตามการปฏิบัติงานในโครงการกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อโครงการ ของผู้เรียนได้รับการอนุมัติแล้ว ผู้เรียนจะดำเนินงานตามโครงการฯ ดังกล่าว ครูต้องนิเทศตามโครงการนั้น ๆ
5.2.7 ดำเนินงานร่วมกับคณะกรรมการพิจารณาและประเมินผลการปฏิบัติโครงการกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ครูต้องทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการที่สถานศึกษาแต่งตั้งและดำเนินงานร่วมกับคณะกรรมการนั้น ๆ ตามจำนวนชั่วโมงและความยากง่ายของโครงการ
การจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตจะต้องเป็นไปตามหลักการ วัตถุประสงค์ และเกณฑ์การจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งให้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อ บุคคล ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ครูผู้รับผิดชอบผู้เรียนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาราย ละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหลักการและเหตุผล ประเภท ปรัชญา ความเชื่อพื้นฐาน วัตถุประสงค์และเกณฑ์การจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ในเอกสาร “เกณฑ์การจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอก โรงเรียน หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544”
การทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้เรียนจะต้องลงมือปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อพัฒนาตนเอง ครอบครัว และพัฒนาชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมแล้วไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง ทั้งนี้ผู้เรียนสามารถเลือกทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตจากขอบข่ายเนื้อหาดังต่อไปนี้
1. กิจกรรมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี
กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี โดยพิจารณากิจกรรมที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนยึดมั่นในศาสนา และปลูกฝังค่านิยมที่ดีเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม และประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่นและของชาติ เช่น
- กิจกรรมส่งเสริมการประกอบอาชีพในวันสำคัญทางศาสนา
- กิจกรรมส่งเสริมการศึกษาหลักธรรมคำสอนของศาสนา
- กิจกรรมส่งเสริมวันสำคัญของชาติ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันพ่อ วันแม่ วันเด็ก วันครอบครัว วันผู้สูงอายุ วันรัฐธรรมนูญ วันสตรีสากล ฯลฯ
- กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ เช่น ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีการแต่งกายประจำท้องถิ่น และประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ของท้องถิ่น ตลอดจนการละเล่น พื้นเมืองต่าง ๆ
- ฯลฯ
2. กิจกรรมการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณา เลือกทำกิจกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนา การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างยั่งยืน เช่น
- กิจกรรมขุดลอกคูคลอง ทางระบายน้ำในหมู่บ้าน
- กิจกรรมกำจัดขยะมูลฝอยในที่สาธารณะ
- กิจกรรมรักษาความสะอาด ถนน ทางเดินในหมู่บ้าน
- กิจกรรมปลูกต้นไม้ ดูแลรักษาสาธารณสมบัติ
- กิจกรรมสร้างทางเท้า ทางเดินหมู่บ้าน
- กิจกรรมสร้างศาลาอเนกประสงค์
- กิจกรรมสร้างส้วมสาธารณะ
- กิจกรรมต่อต้านยาเสพติด อาสาสมัครป้องกันยาเสพติด
- กิจกรรมอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
- กิจกรรมเวทีชาวบ้าน
- กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย
- กิจกรรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
- ฯลฯ
3. กิจกรรมสนับสนุนงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตเกี่ยวกับการสนับสนุนงาน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยพิจารณาเลือกทำกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญ เกิดความรัก เกิดความผูกพัน และเป็นส่วนหนึ่ง ของการศึกษานอกระบบ ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการสนับสนุน แต่ต้องลงมือปฏิบัติกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสนับสนุนงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยโดยแท้จริง เช่น
- กิจกรรมรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือ
- กิจกรรมประชาสัมพันธ์งานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
- กิจกรรมวันการศึกษานอกโรงเรียน
- กิจกรรมวันที่ระลึกการรู้หนังสือ
- กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ศูนย์การเรียนชุมชน ศูนย์บริการสื่อห้องสมุดประชาชน แหล่งความรู้หมู่บ้าน หอกระจายข่าว ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ
- กิจกรรมสนับสนุนและพัฒนางานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อพัฒนาอาชีพ
- กิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนงานตามนโยบายรัฐบาลที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอก ระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยขอความร่วมมือ
- ฯลฯ
ขั้นตอนการทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
1. ผู้เรียนที่ยื่นคำร้องแสดงความจำนงขอทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
2. แนบโครงการที่เขียนแล้ว พร้อมแบบคำร้อง แสดงความจำนง ขอทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขออนุมัติโครงการต่อสถานศึกษา
โครงการประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้
2.1 ชื่อโครงการ
2.2 หลักการและเหตุผล
- บอกเหตุผลและความจำเป็นหรือความสำคัญของโครงการ
2.3 วัตถุประสงค์
- ระบุว่าโครงการนี้ทำเพื่ออะไร เกิดประโยชน์อย่างไร
2.4 ขั้นตอนการดำเนินงาน
- บอกวิธีการทำงานว่าขั้นตอนอย่างไร ตั้งแต่เริ่มทำโครงการจนสิ้นสุดโครงการ
2.5 สถานที่ดำเนินงาน
- ระบุสถานที่ที่จะดำเนินการ
2.6 ระยะเวลา
- ระบุว่า โครงการที่จะปฏิบัตินั้นเริ่มและสิ้นสุดวันใด
2.7 งบประมาณ
- ตั้งงบประมาณหรือองค์ประกอบที่จะทำให้โครงการบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายเช่นวัสดุ แรงงาน
2.8 ผู้รับผิดชอบโครงการ
- ระบุผู้รับผิดชอบโครงการว่ามีใครบ้าง กี่คน
2.9 ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ระบุว่าจากการทำโครงการนั้น คาดว่าจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
3. เมื่อสถานศึกษาอนุมัติโครงการแล้ว ให้ผู้เรียนนำโครงการดังกล่าวมาดำเนินงานโดยอยู่ในการกำกับดูแลของครู และคณะกรรมการ
4. เมื่อดำเนินงานเสร็จสิ้นแล้ว ก็ให้จัดทำรายงานการดำเนินงานต่อสถานศึกษา เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาและประเมินผลการปฏิบัติงาน
แนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เป็นกระบวนการที่ดำเนินควบคู่ไปกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ เพื่อได้ข้อมูลที่แสดงพัฒนาการความก้าวหน้าและความสำเร็จในการเรียนของผู้ เรียน
แนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ตามหลักสูตร การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ประกอบด้วย
1. การวัดประเมินผลการเรียนหมวดวิชา
2. การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
3. ประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียน
4. การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
1. การวัดผลและประเมินผลการเรียนหมวดวิชา (กพช.)
การวัดและประเมินผลการเรียนหมวดวิชา เป็นการวัดและประเมินผลการเรียนในหมวดวิชาต่าง ๆ ในกลุ่มหมวดวิชาพื้นฐานและกลุ่มหมวดวิชาประสบการณ์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อทราบความก้าวหน้าของผู้ เรียน ทั้งด้านความรู้ทักษะกระบวนการ คุณธรรม จริยธรรม อันเป็นผลมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนั้น การวัดและประเมินผล จึงต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย เน้นการปฏิบัติจริงให้สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยแบ่งเป็นการประเมินผลก่อนเรียน การประเมินผลระหว่างเรียน และการประเมินผลปลายภาคเรียน
การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้หมวดวิชา พิจารณาจากกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากผลงาน/ชิ้นงานจากการทำงานกลุ่ม ที่ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเอง การนำเสนอผลงาน/ชิ้นงานและการร่วมอภิปราย การทดสอบย่อย (Quiz) โครงงานและการทดสอบปลายภาคเรียน
1.1 กิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง
โดยพิจารณาจากผลงาน/ชิ้นงานที่ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง การนำเสนอผลงาน/ชิ้นงานและการร่วมอภิปราย
1.1.1 ผลงาน/ชิ้นงานที่ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
ผู้เรียนที่ได้ไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ในเนื้อหาสาระที่ง่าย ที่ได้ตกลงร่วมกับครูในช่วง วางแผนการเรียนรู้ ผู้เรียนต้องบันทึกผลการศึกษาไว้เป็นหลักฐาน อาจใช้วิธีบันทึกด้วยการเขียนด้วยลายมือ เพื่อฝึกการเขียน และการจัดเก็บให้เป็นระบบ
ครูตรวจสอบผลการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองของนักศึกษาเป็นระยะ ๆ ตามที่ได้กำหนดในแผนการเรียนรู้ โดยพิจารณาในเรื่องของเนื้อหาสาระ ทักษะกระบวนการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง คุณธรรม จริยธรรม และอื่น ๆ รวมทั้งพิจารณา การอ่าน คิด วิเคราะห์ และเขียน
1.1.2 การนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าและการร่วมอภิปราย
ผู้เรียนจะต้องหมุนเวียนกันนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง หรือกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายในช่วงการพบกลุ่ม และผู้ที่ยังไม่ได้นำเสนอต้องร่วมอภิปราย ซักถามเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นการฝึกทักษะการเสนอความคิดเห็นและฝึกทักษะการพูด
ครูสังเกตพฤติกรรมของนักศึกษาในส่วนที่เป็นผู้นำเสนอ ทั้งด้านเนื้อหา สื่อ บุคลิกภาพ และอื่น ๆ แล้วบันทึกผลสังเกตไว้เป็นหลักฐาน สำหรับผู้ร่วมอภิปรายให้สังเกตในเรื่องสาระที่ร่วมอภิปราย ข้อมูล ข้อคิดเห็นที่นำมาอภิปราย การมีส่วนร่วมและทักษะการพูดในที่ชุมชนและอื่น ๆ โดยบันทึกผลการสังเกตในแบบสังเกต
1.2 การทดสอบย่อย (Quiz)
ในการพบกลุ่มหลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองและการอภิปรายแล้ว ให้ครูดำเนินการทดสอบย่อยทุกครั้ง ครั้งละไม่เกิน 20 นาที โดยทดสอบเกี่ยวกับความคิดรวบยอด ตามมาตรฐานและสาระการเรียนรู้ที่ได้จากการพบกลุ่มครั้งที่ผ่านมา โดยครูศูนย์การเรียนชุมชน เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแบบทดสอบย่อยในลักษณะเติมคำตอบสั้น และให้นักศึกษาเก็บคะแนนไว้เป็นหลักฐานด้วย
1.3 โครงงาน
ครูกับผู้เรียนวางแผนการประเมินโครงงานร่วมกัน ในช่วงการวางแผนการจัดการเรียนรู้ว่าจะประเมินอะไรบ้าง ให้คะแนนเท่าไร และประเมินช่วงเวลาใด ทั้งนี้การประเมินโครงงานโดยทั่วไปจะประเมิน 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 เอกสารโครงงาน
ส่วนที่ 2 กระบวนการทำงาน
ส่วนที่ 3 ผลงานและรายงาน
ส่วนที่ 1 เอกสารโครงงาน ให้ตรวจสอบว่า เอกสารโครงงานที่เขียนมีหัวข้อสำคัญ ๆ ของโครงงานครบถ้วนหรือไม่ การเขียนโครงงานสมเหตุสมผล มีความชัดเจน และมีความเป็นไปได้เพียงใด
ส่วนที่ 2 กระบวนการทำงาน ให้ผู้เรียนรายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ เช่น ทุก 2 สัปดาห์ โดยให้ผู้เรียนประเมินด้วยตนเองว่า การดำเนินโครงงานก้าวหน้าเป็นไปตามแผนหรือไม่ หรือมีปัญหา อุปสรรคใด และได้แก้ปัญหานั้นอย่างไร โดยผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มบันทึกผลการประเมินไว้ด้วย
ส่วนที่ 3 ผลงาน/รายงาน เมื่อทำโครงงานเสร็จสิ้นได้ชิ้นงานแล้ว ให้ผู้เรียนช่วยกันเขียนรายงานโครงงานที่ทำตามแบบฟอร์ม การเขียนรายงานว่าทำอะไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร ทำที่ไหน เมื่อไร ผลเป็นอย่างไร พร้อมทั้งเขียนสะท้อนความคิดเห็นต่อการทำโครงงาน โดยครูประเมินทั้งส่วนที่เป็นชิ้นงานและรายงาน
ทั้งนี้การประเมินโครงงานทั้ง 3 ส่วน ให้น้ำหนักคะแนนของส่วนที่ 2 การประเมินกระบวนการทำงานและส่วนที่ 3 การประเมินผลงาน/รายงานมากกว่าส่วนที่ 1 เอกสารโครงงาน เช่น ถ้าโครงงานคะแนนเต็ม 30 ส่วน อาจให้คะแนน ส่วนที่ 1 : ส่วนที่ 2 : ส่วนที่ 3 เป็น 5: 15 :10 เป็นต้น
1.4 การประเมินผลปลายภาคเรียน
การประเมินผลปลายภาคเรียนเป็นการประเมินสรุปผลการเรียนรู้ ตามสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ ของแต่ละหมวดวิชา โดยให้ประเมินทั้งด้านความรู้ ทักษะ และกระบวนการด้วยแบบทดสอบทั้ง อัตนัย และปรนัย ในส่วนที่เท่ากัน หากผู้เรียนสอบไม่ผ่านหมวดวิชาใด สามารถสอบแก้ตัวในหมวดวิชานั้นได้ ให้แล้วเสร็จก่อนปิดลงทะเบียนเรียน สอบแก้ตัวตามที่สถานศึกษากำหนด และผลการสอบแก้ตัวให้ค่าระดับ ผลการเรียนเป็น “1” เท่านั้น หากสอบแก้ตัวไม่ผ่านให้ลงทะเบียนเรียนซ้ำ
คะแนนประเมินผลการเรียนรายหมวดวิชา กำหนดสัดส่วนเป็นดังนี้
รายการประเมิน
|
คะแนนร้อยละ
|
1. กิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง (ผลงาน/ชิ้นงานที่ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง) การนำเสนอและการร่วมอภิปราย
2. การทดสอบย่อย (Quiz)
3. โครงงาน
4. การประเมินผลปลายภาคเรียน (Final Test)
|
30
10
20
40
|
รวม
|
100
|
หมายเหตุ
1. คะแนนปลายภาคเรียนต้องได้ไม่น้อยกว่า 20 คะแนน และเมื่อนำไปรวมกับคะแนนในข้อ
1 – 3 แล้วต้องไม่ต่ำกว่า 50 คะแนน จึงจะผ่านการประเมินผล
2. หมวดวิชาที่สอบผ่านสะสมได้ไม่เกิน 5 ปี
เข้าชม : 1745 |