การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ
โดย พวงแก้ว กิจธรรม
|
|
รวมพลคนพิการ
|
เมื่อยจังเลยนวดให้หน่อย
|
……………………………………………………………………………………………………………………
1. หลักการ และความมุ่งหมาย
1.1 มุ่งจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนพิการให้สามารถพึ่งตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถประกอบอาชีพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นอิสระ และสร้างประโยชน์แก่ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
1.2 มุ่งจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนพิการให้เป็นคนมีคุณธรรม คุณภาพ และมีความสมบูรณ์รอบด้านทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
1.3 มุ่งขยายโอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการทุกระดับทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน รวมทั้งการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
1.4 จัดรูปแบบการศึกษาให้คนพิการทุกคนสามารถเข้าเรียนได้โดยสอดคล้องกับศักยภาพ และความต้องการของคนพิการแต่ละคน ได้แก่
1.4.1 สถานศึกษา คนพิการต้องการสถานศึกษาทั้ง 3 รูปแบบ ตามที่กำหนดในมาตรา 18 ของ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้แก่
1) สถานพัฒนาคนปฐมวัย ในรูปแบบ “ ศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มของคนพิการ ” เพื่อบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งด้านการแพทย์ และการศึกษาในแบบบูรณาการ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ในบริบทของการศึกษา เพื่อให้เด็กมีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย และการเรียนรู้ในการเข้าสู่ระบบการศึกษา
2) โรงเรียน ทั้งของรัฐ และเอกชน ในระดับชั้นต่างๆ เพื่อให้คนพิการทางกายฯมีโอกาสเลือกโรงเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละคน ไม่ว่า จะเรื่อง วิธีเดินทาง ระยะห่างจากบ้าน บริการสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบ หรือคุณภาพการศึกษา เป็นต้น
3) ศูนย์การเรียน เพื่อให้คนพิการทางกายฯ ที่อยู่ในระหว่างพักฟื้น หรือฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ คนพิการที่ไม่สามารถไปสถานพัฒนาคนปฐมวัย หรือโรงเรียน และคนพิการที่มีอายุเกินกว่าคนที่อยู่ในระดับชั้นเรียนเดียวกันมาก ได้มีโอกาสรับการศึกษาจากหน่วยงานที่จัดการศึกษานอกโรงเรียน หรือการศึกษาตามอัธยาศัย บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถานสงเคราะห์ และสถาบันสังคมอื่น เป็นต้น
สำหรับระบบ และรูปแบบการจัดการศึกษานั้น ตามมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดให้สถานศึกษาจัดการศึกษาได้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย รวมทั้งให้สามารถเทียบโอนผลการเรียนทั้ง 3 ระบบได้นั้น นับว่าแนวคิดนี้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของคนพิการเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ คนพิการ ต้องการบริการการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ “ เป็นการศึกษาทางเลือก ” ได้ ทั้ง 3 ระบบ ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ 1) เรียนเฉพาะคนพิการทางกาย 2) เรียนร่วม 3) บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม 4)จัดการศึกษาโดยครอบครัว และชุมชน และ 5) จัดการศึกษารูปแบบศูนย์การเรียน
1.5 จัดให้การศึกษาสำหรับคนพิการโดยเน้นการศึกษาแบบนำความรู้สู่การปฏิบัติ และประกอบอาชีพมีความหลากหลาย และยืดหยุ่น ตลอดจนเชื่อมโยงความเป็นไทย และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น กับการเป็นพลเมืองโลก ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว
1.6 การบริหารการศึกษาสำหรับคนพิการให้ยึดหลักความเป็นเอกภาพ เสรีภาพทางวิชาการ การมีส่วนร่วม วางแผนยุทธศาสตร์ และการกระจายอำนาจ
1.7 จัดการศึกษาสำหรับคนพิการทั้งด้านสายสามัญ และสายอาชีพ ในทุกระบบ รูปแบบ และระดับ
1.8 พัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการให้ลุ่มลึก กว้างขวาง ทั่วถึง ครบวงจร ทันสมัย และมีความเป็นสากลอยู่เสมอ
1.9 จัดการศึกษาให้คนพิการโดยวางแผนเป็นรายบุคคลให้สอดคล้องกับศักยภาพ และความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน
1.10 จัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการศึกษา
1.11 จัดการศึกษาสำหรับคนพิการโดยมีบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มแก่คนพิการ และครอบครัวตั้งแต่แรกพบความพิการ
1.12 ไม่จำกัดอายุของคนพิการในการเข้า หรือศึกษาในระบบ รูปแบบ ลักษณะการศึกษา หรือระดับการศึกษาใดๆ
1.13 ในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการทุกระบบ รูปแบบ ลักษณะการศึกษา และระดับการศึกษา รัฐต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และการช่วยเหลือเพื่อการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการของคนพิการแต่ละคน
1.14 สถานศึกษาจัดระบบให้คนพิการสามารถเข้าถึง และได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการศึกษาที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมกับคนพิการแต่ละคน
1.15 สถานศึกษาต้องจัดบริการสอนเสริม และสนับสนุนการเรียนการสอนของคนพิการ
1.16 สถานศึกษาสำหรับคนพิการต้องจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลให้มีความสมบูรณ์สอดคล้องกับการพัฒนาของสังคม และเศรษฐกิจ
1.17 สถานศึกษาสำหรับคนพิการต้องมีอิสระ และความคล่องตัวในการบริหาร และจัดการศึกษา โดยรัฐต้องให้การสนับสนุนเท่าเทียมกับการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลทั่วไป
1.18 จัดการศึกษาสำหรับคนพิการทั้งด้านบริหาร และการจัดการโดยสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และ การมีส่วนร่วมของผู้เรียน ครอบครัว ประชาชน ชุมชน องค์กรของคนพิการ องค์กรเพื่อคนพิการ องค์กรของภาครัฐ และเอกชน และคณะอนุกรรมการสาขาการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการประจำจังหวัด
1.19 จัดตั้งเครือข่ายองค์กรด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ ประสานงาน และร่วมกันพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ
1.20 จัดระบบให้สามารถเทียบโอนความรู้ และประสบการณ์ด้านการศึกษาของคนพิการได้ทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
1.21 ผู้พิการที่เรียนในองค์กร หรือสถานศึกษาของเอกชน ต้องได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐอย่างเท่าเทียมกับผู้เรียนในสถานศึกษาของรัฐ
1.22 รัฐต้องสนับสนุนส่งเสริมให้องค์กร สถานศึกษา และสถาบันการศึกษาของเอกชนจัดการศึกษาให้คนพิการ
1.23 จัดระบบการกำหนดมาตรฐาน และประกันคุณภาพของการจัดการศึกษาให้คนพิการ ในทุกรูปแบบการศึกษา
1.24 ปลูกจิตสำนึก และสร้างเจตคติที่เหมาะสมเกี่ยวกับการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ หน้าที่ โอกาส และความเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป แก่คนพิการ ครอบครัว ชุมชน สังคม โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษา สื่อมวลชน และนักการเมือง โดยดารจัดกิจกรรม และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกชนิด
1.25 ให้บรรจุเนื้อหาที่ถูกต้องเรื่องคนพิการ และวิธีป้องกันความพิการในตำราเรียนทุกระดับการศึกษา
2.ระบบการศึกษา
2.1จัดระบบให้คนพิการทุกคนสามารถได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยจัดการศึกษา อย่างหลากหลาย ยืดหยุ่น กว้างขวาง ทั่วถึง และสอดคล้องกับความต้องการของคนพิการแต่ละ คน
2.2 จัดการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบ คือ ในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตทุกรูปแบบ
2.3 แบ่งการศึกษา เป็น 4 ระดับ คือ
2.3.1 การช่วยเหลือระยะแรกเริ่มแก่คนพิการ และครอบครัว
2.3.2 ก่อนการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.3.3 การศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.3.4 อุดมศึกษา
2.4 สถานศึกษามีสิทธิ และหน้าที่จัดการศึกษาทั้ง 4 รูปแบบ
2.5 จัดลักษณะการศึกษาให้คนพิการทุกคนสามารถเข้าเรียนได้โดยสอดคล้องกับศักยภาพ และความต้องการของคนพิการแต่ละคน ได้แก่ การศึกษาในโรงเรียนเฉพาะ การเรียนร่วม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้โดยชุมชน และการเรียนในสถานพยาบาลระหว่างเจ็บป่วย
2.6 ให้คนพิการสามารถเทียบโอนผลการเรียนทั้งด้านความรู้ และประสบการณ์ในระหว่างรูปแบบเดียวกัน หรือต่างรูปแบบของทุกสถานศึกษาได้ทั่วประเทศ
3. แนวทางการจัดการศึกษา
3.1 การจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของคนพิการแต่ละคน
3.2 การจัดการศึกษาในแต่ละระบบ รูปแบบ ลักษณะ และระดับ ต้องสอดคล้องกับหลักการ และความมุ่งหมาย
3.3 การศึกษาต้องเน้นความสำคัญขององค์ความรู้ กระบวนการเรียนรู้ และการบูรณาการเพื่อให้คนพิการเป็นมนุษย์ที่มีคุณธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ
3.4 หลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนสำหรับคนพิการต้องยืดหยุ่นตามศักยภาพของผู้เรียน ท้องถิ่น ภาวะเศรษฐกิจ สังคม และความต้องการของตลาดแรงงาน
3.5 ให้สถานศึกษาสำหรับคนพิการมีอิสระ และความคล่องตัวในการบริหาร และจัดการศึกษา
3.6 ให้ประเมินผลการศึกษาของคนพิการโดยยึดความก้าวหน้าของการพัฒนาศักยภาพของแต่ละคนเป็นสำคัญ
3.7 ให้บริการสอนเสริม และบริการสนับสนุนด้านการศึกษาแก่ผู้เรียนที่เรียนช้า หรือไม่ผ่านประเมิน
3.8 ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในสถานศึกษา เช่น พัฒนาการสื่อสาร แก้ไขการพูด และฝึกยืน เป็นต้น
3.9 ให้ผู้เรียน ครอบครัว ประชาชน ชุมชน องค์กรของคนพิการ องค์กรเพื่อคนพิการ องค์กรของภาครัฐ และเอกชน และคณะอนุกรรมการสาขาการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการประจำจังหวัด มีส่วนร่วมทั้งในการบริหาร และจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ
3.10 จัดการศึกษาให้คนพิการสามารถเทียบโอนผลการเรียนทั้งด้านความรู้ และประสบการณ์ในระหว่างรูปแบบเดียวกัน หรือต่างรูปแบบของทุกสถานศึกษาได้ทั่วประเทศ
3.11 ให้สถานศึกษามีสิทธิ และหน้าที่จัดการศึกษาทั้ง 4 รูปแบบ
3.12 ให้องค์กร สถานศึกษา และสถาบันการศึกษา ทั้งของภาครัฐ และเอกชน ที่มีศักยภาพดำเนินการได้ สามารถจัดการศึกษาได้ทั้ง 4 รูปแบบ
3.13 ให้สถานศึกษาร่วมกับองค์กรท้องถิ่นทั้งภาครัฐ และเอกชน ส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาของคนพิการ โดยจัดเครือข่ายองค์กรด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ และกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน
4. การบริหาร และจัดการศึกษา
4.1 การบริหารการศึกษาสำหรับคนพิการให้ยึดหลักความเป็นเอกภาพ เสรีภาพทางวิชาการ การมีส่วนร่วม วางแผนยุทธศาสตร์ และการกระจายอำนาจ
4.2 การบริหารการศึกษาแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
4.2.1 ระดับชาติ
4.2.2 ระดับท้องถิ่น
4.2.3 ระดับองค์กร สถานศึกษา และสถาบันการศึกษา
4.3 ระดับชาติ -ให้หน่วยงานบริหารการศึกษาคนพิการส่วนกลางมีหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนงาน หลักสูตร และมาตรฐานการจัดการศึกษา ตลอดจนจัดสรรงบประมาณ สนับสนุนทรัพยากรกำกับดูแล ติดตาม ประเมินผล ตรวจสอบคุณภาพ และประสิทธิภาพ วิจัย และพัฒนาการศึกษาของคนพิการในทุกรูปแบบ โดยการระดมความรู้ และประสบการณ์จาก ผู้แทนขององค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนพิการ ทั้งองค์การของคนพิการ และองค์กรเพื่อคนพิการ รวมทั้ง นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาชีพ และผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับคนพิการ ในด้านการศึกษา และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
4.4 ระดับจังหวัด - ให้องค์กรท้องถิ่น ชุมชน สถานศึกษา และคณะอนุกรรมการสาขาการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการประจำจังหวัด จัดตั้งคณะกรรมการศูนย์การศึกษาพิเศษ ( เพื่อคนพิการ ) ประจำจังหวัด เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรฐานการจัดการศึกษา โดยใช้แนวทางที่กำหนดโดยหน่วยงานบริหารการศึกษาคนพิการส่วนกลาง
4.5 ระดับสถานศึกษา - ให้สถานศึกษาที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการทุกรูปแบบ ดำเนินการบริหาร และจัดการศึกษาได้อย่างเป็นอิสระ และสอดคล้องกับความต้องการของคนพิการแต่ละคน โดยไม่ขัดต่อหลักการ และความมุ่งหมายของการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ภายใต้การกำกับดูแล ติดตาม ประเมินผล และพัฒนาการศึกษาของคนพิการ โดยคณะกรรมการของสถานศึกษา และคณะกรรมการโครงการการศึกษาสำหรับคนพิการในสถานศึกษานั้น ซึ่งผู้แทนของชุมชนมีส่วนร่วมด้วย
4.6 จัดให้มีศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มแก่คนพิการ และครอบครัวในสถานศึกษาทุกแห่ง
4.7 สนับสนุน และส่งเสริมให้องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนจัดบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มแก่คนพิการ และครอบครัว ในบริบทของการศึกษา เพื่อให้บริการให้คำปรึกษา แนะแนว รวมทั้งพัฒนาคนพิการด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญาส่งเสริมให้บุคคล องค์กร สถานศึกษา และสถาบันการศึกษาดำเนินการวิจัย และพัฒนาการจัดการศึกษาของคนพิการให้ทันสมัย เป็นสากล และมีประสิทธิภาพ
4.8 ให้จัดตั้งสำนักงานเทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อรับผิดชอบการผลิต และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และสื่อ รวมทั้งบริการข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับความต้องการของคนพิการแต่ละคน
4.9 สนับสนุน และส่งเสริมบุคคล ชุมชน และองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนในการผลิต และพัฒนาเครื่องช่วยคนพิการ สิ่งอำนวยความสะดวก และสื่อการศึกษาสำหรับคนพิการ
4.10 ให้เงินทุนสวัสดิการเพื่อให้คนพิการจัดหาสื่อที่เหมาะสมกับแต่ละคน
4.11 ประสานงานกับกรมศุลกากรเพื่อให้ยกเว้นภาษีของเครื่องช่วยคนพิการ สิ่งอำนวยความสะดวก และสื่อการศึกษาสำหรับคนพิการ
4.12 จัดตั้งศูนย์บริการด้านการศึกษาแก่คนพิการ ทั้งในระดับชาติ จังหวัด และท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่จัดฝึกอบรมเสริมสร้างทักษะทางสังคม และเตรียมความพร้อมก่อนทำงาน รวมทั้งให้คำปรึกษา แนะแนว แก้ปัญหา ช่วยเหลือ ประสานงาน ส่งต่อ ฯลฯ ทั้งด้านการศึกษา และการประกอบอาชีพ
4.13 ส่งเสริม และสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาผลิต และพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา แก้ไขการพูด (พัฒนาความสามารถสื่อสารของคนพิการ ) กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด ดนตรีบำบัด สังคมสงเคราะห์ และจิตวิทยาคนพิการ เป็นต้น
4.14 จัดตั้งศูนย์กีฬา และนันทนาการสำหรับคนพิการ ทั้งในระดับชาติ จังหวัด และท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่สร้างเสริมให้คนพิการ มีสุขภาพกาย และใจที่ดี ตลอดจนสนับสนุน และส่งเสริมบุคคล ครอบครัว ชุมชน และองค์กรที่มีส่วนร่วมเรื่องกีฬา และนันทนาการสำหรับคนพิการ
4.15 ประสานงานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสนาม หรือสถานที่เล่นกีฬา และสถานพักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนทั่วไปในท้องถิ่นให้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าไปใช้บริการได้เท่าเทียมกับคนทั่วไป
4.16 จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมคนพิการ ทั้งในระดับชาติ จังหวัด และท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม เผยแพร่ และพัฒนาศักยภาพของคนพิการด้านศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนสนับสนุน และส่งเสริมบุคคล ครอบครัว ชุมชน และองค์กรที่มีส่วนร่วมเรื่องศิลปวัฒนธรรมของคนพิการ
4.17 จัดตั้งศูนย์อาสาสมัครด้านการศึกษาสำหรับคนพิการทั้งในระดับชาติ จังหวัด และท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ฝึกอบรมคนพิการ ครอบครัว และชุมชน เรื่องวิธีช่วยเหลือคนพิการ รวมทั้งส่งเสริม และประสานวสานให้อาสาสมัครทำหน้าที่ บริบาล สอน จัดกิจกรรม ประสานงาน ประชาสัมพันธ์ และบริการด้านต่างๆ เป็นต้น
4.18 ส่งเสริม และสนับสนุนให้จัดตั้ง ชมรม หรือสมาคมผู้ปกครอง และครู เพื่อให้ผู้ปกครอง และครูได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกันจัดกิจกรรมพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ
4.19 ส่งเสริม และสนับสนุนให้จัดตั้ง ชมรม หรือสมาคมศิษย์เก่า เพื่อให้ศิษย์เก่า ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกันจัดกิจกรรมพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ
4.20 กำหนดให้สถานศึกษาจัดทำระเบียบเรื่องความปลอดภัยของคนพิการ เพื่อระบุวิธีป้องกันอันตราย และวิธีดำเนินการที่ชัดเจนในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่คนพิการในสถานศึกษา
4.21 ให้หน่วยงานบริหารการศึกษาคนพิการส่วนกลางศึกษาวิจัยเพื่อรวบรวมสถิติจำนวนคนพิการทั่วประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะจัดสถานศึกษา งบประมาณ บุคลากร สื่อ และสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น สำหรับรับคนพิการที่จะเข้าศึกษาในแต่ละระบบ รูปแบบ ลักษณะ และระดับการศึกษา
5. ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา
5.1 รัฐต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้สถาบันการศึกษา ผลิตครูที่มีความรู้ และความชำนาญในการสอนคนพิการ
5.2 จัดให้มีระบบวางแผน จัดการบริหาร กำหนดเกณฑ์มาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ ประกันคุณภาพ จัดสวัสดิการ รวมทั้งวิธีการตรวจสอบจรรยาบรรณ และคุณธรรม ของครูที่จะทำหน้าที่สอนคนพิการทาง
5.3 จัดให้มีคณะอนุกรรมการการศึกษาสำหรับคนพิการ ภายใต้ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนงาน หลักสูตร และมาตรฐานการจัดการศึกษา กำกับดูแล ติดตาม ประเมินผล ตรวจสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ จรรยาบรรณ และคุณธรรมของครู สรรหา ให้รางวัล และเผยแพร่เกียรติคุณของครูที่ปฏิบัติงานดีเด่น พร้อมทั้งดำเนินงานศึกษาวิจัย และพัฒนาการศึกษาของครูที่ทำหน้าที่สอนคนพิการ
5.4 จัดให้นักศึกษาวิชาชีพครูทุกสถาบันได้เรียนรู้เรื่องคนพิการ และการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ
5.5 จัดให้มีสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อทำหน้าที่ฝึกอบรม กำกับดูแล ติดตาม ประเมินผล ตรวจสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ จรรยาบรรณ และคุณธรรมของผู้บริหาร สรรหา ให้รางวัล และเผยแพร่เกียรติคุณของผู้บริหารที่ปฏิบัติงานดีเด่น พร้อมทั้งดำเนินงานศึกษาวิจัย และพัฒนาผู้บริหารการศึกษาสำหรับคนพิการ
5.6 ให้รัฐสนับสนุนเงินเพิ่มพิเศษแก่ครู ผู้บริหารและนักวิชาชีพต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาสำหรับคนพิการ
5.7 ส่งเสริมให้คนพิการ ครอบครัว ผู้มีความรู้ และประสบการณ์เรื่องคนพิการ ตลอดจนผู้มีภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนคนพิการ
5.8 สนับสนุน และส่งเสริมให้ครอบครัว ชุมชน องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน จัดการศึกษาให้แก่คนพิการ บางส่วน บางเวลา หรือทั้งหมดตามศักยภาพ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการศึกษาสำหรับคนพิการประจำจังหวัด
5.9 ส่งเสริมคนพิการให้เป็นบุคลากรด้านการศึกษาสำหรับคนพิการในองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน
6. คุณภาพ และมาตรฐานการศึกษา
6.1 ระดับชาติ -ให้คณะอนุกรรมการการศึกษาสำหรับคนพิการ และศูนย์การศึกษาพิเศษแห่งชาติ มีหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม ประเมินผล ตรวจสอบคุณภาพ และประสิทธิภาพ วิจัย และพัฒนาการศึกษาของคนพิการในทุกรูปแบบ และทุกระดับ
6.2 ระดับเขตการศึกษา - ให้คณะกรรมการศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา ทำหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม ประเมินผล ตรวจสอบคุณภาพ และประสิทธิภาพ และพัฒนาการศึกษาของคนพิการในทุก รูปแบบ และทุกระดับ
6.3 ระดับจังหวัด - ให้คณะกรรมการศูนย์การศึกษาพิเศษ ( เพื่อคนพิการ )ประจำจังหวัดทำหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม ประเมินผล ตรวจสอบคุณภาพ และประสิทธิภาพ และพัฒนาการศึกษาของคนพิการในทุก รูปแบบ และทุกระดับ
6.4 ระดับสถานศึกษา - ให้คณะกรรมการของสถานศึกษา และคณะกรรมการโครงการการศึกษาสำหรับคนพิการของสถานศึกษานั้น มีหน้าที่จัดฝึกอบรม กำกับดูแล ติดตาม ประเมินผล รวมทั้งพัฒนาการศึกษาของคนพิการ และบุคลากร
6.5 คุณภาพ และมาตรฐานของครู - จัดให้มีคณะกรรมการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนงาน หลักสูตร และมาตรฐานการจัดการศึกษา จัดฝึกอบรม กำกับดูแล ติดตาม ประเมินผล ตรวจสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ จรรยาบรรณ และคุณธรรมของครู สรรหา และให้รางวัลครูที่ปฏิบัติงานดีเด่น พร้อมทั้งดำเนินการศึกษาวิจัย และพัฒนาการศึกษาของครูที่ทำหน้าที่สอนคนพิการทางแขน -ขา และลำตัว
6.6 คุณภาพ และมาตรฐานของผู้บริหาร - จัดให้มีสถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อทำหน้าที่ฝึกอบรม กำกับดูแล ติดตาม ประเมินผล ตรวจสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ จรรยาบรรณ และคุณธรรมของผู้บริหาร สรรหา ให้รางวัลผู้บริหารที่ปฏิบัติงานดีเด่น รวมทั้งวิจัย และพัฒนาผู้บริหารการศึกษาสำหรับคนพิการ
6.7 คุณภาพ และมาตรฐานของสถานที่ - จัดสภาพแวดล้อม อาคาร ห้องน้ำ และห้องเรียน โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถเดินทาง เข้าถึง และรับบริการได้
6.8 คุณภาพ และมาตรฐานของหลักสูตร - พัฒนาเนื้อหา และวิธีสอน ให้ถูกต้อง เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับศักยภาพของคนพิการแต่ละคน
6.9 คุณภาพ และมาตรฐานของการประเมินผล - พัฒนาวิธีการประเมินผลโดยพิจารณาจากการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคนเป็นหลัก
6.10 คุณภาพ และมาตรฐานของการนิเทศ - จัด และพัฒนาให้ผู้มีความรู้ และประสบการณ์การศึกษาสำหรับคนพิการเป็นผู้นิเทศทั้งในสถานศึกษา และในชุมชน
6.11 จัดตั้งเครือข่ายองค์กรด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษา
6.12 ส่งเสริม และสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับการศึกษาของคนพิการภายในชุมชน
6.13 ส่งเสริมให้บุคคล องค์กร สถานศึกษา และสถาบันการศึกษาดำเนินการวิจัย และพัฒนาการจัดการศึกษาของคนพิการให้ทันสมัย เป็นสากล และมีประสิทธิภาพ
6.14 ให้จัดตั้งสำนักงานเทคโนโลยี และสารสนเทศทางการศึกษาสำหรับคนพิการ เพื่อรับผิดชอบการผลิต ปรับปรุง ซ่อม พัฒนา วิจัย เผยแพร่ รวมทั้งบริการ สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ และข้อมูลข่าวสาร ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนพิการแต่ละคนทั่วประเทศ โดยการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
6.15 ให้จัดทำคู่มือการเรียนการสอนสำหรับคนพิการในทุกรูปแบบ ระบบ และระดับ
…………………………………………………..
FILE : SPED.DOC - 25/7/43
โดย นายสุรพงษ์ อ่อนสีทา กศน.อ.บ้านแพง จ.นครพนม
เข้าชม : 430
|