ตอนที่แล้วหมอได้กล่าวถึงการวินิจฉัยออทิสติกว่าต้องมีความผิดปกติใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสัมพันธภาพ ด้านการสื่อสาร และ พฤติกรรมซ้ำๆ แล้วแต่ละด้านมีความผิดปกติอย่างไร มาทำความเข้าใจกันต่อเลยค่ะ
ด้านสัมพันธภาพ : เมื่ออยู่ในวัยเด็กเล็กมักไม่ให้อุ้ม ขืนตัว แอ่นหนี ไม่สบตา ไม่มองตาม ไม่อ้าแขนรอรับเวลาผู้ใหญ่จะเข้ามาอุ้ม ไม่ร้องไห้งอแงเมื่อต้องแยกจากพ่อแม่ โตขึ้นมา มักไม่สนใจที่จะร่วมวงกับผู้อื่น เวลาอยากได้อะไรจะไม่ชี้แต่จับมือคนอื่นไปชี้แทน ชอบเล่นคนเดียว เมื่อเข้าสู่วัยเด็กโตหรือวัยรุ่นไม่ค่อยมีเพื่อนสนิท ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ไม่เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกหรือความต้องการของผู้อื่น เด็กหลายคนอยากมีเพื่อนแต่เล่นกับเพื่อนไม่เป็น เข้ากับเพื่อนได้ไม่ดี มักถูกเพื่อนล้อเลียนและกลั่นแกล้ง
โดยสรุปคือเด็กๆ กลุ่มนี้จะมีโลกส่วนตัวสูงและมักจะอยู่ในโลกใบนั้นของเขา และไม่รู้ว่าจะก้าวออกมามีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างไร เด็กหลายคนอยากมีเพื่อนและพยายามก้าวออกมาจากโลกส่วนตัว แต่วิธีของเขาทำให้เพื่อนไม่เข้าใจและมองว่าแปลก เมื่อถูกเพื่อนล้อหรือแกล้ง ยิ่งทำให้เกิดความอึดอัด หงุดหงิดหรือเศร้าอยู่ในใจแล้วก็กลับไปอยู่ในโลกของตนเองเช่นเดิม บางครั้งอาจแสดงออกเป็นความหงุดหงิด ก้าวร้าวเพราะไม่สามารถสื่อให้เพื่อนและคนรอบข้างรู้ได้ว่าตนเองรู้สึกอย่างไร หากย้อนมานึกถึงตัวเรานะคะ... ถ้าไม่สบายใจแต่พูดไม่ได้หรือพูดแล้วคนอื่นไม่เข้าใจ... เราคงอึดอัดน่าดู
ด้านการสื่อสาร : พูดช้า ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ในขวบปีแรก อายุ 2 ขวบยังพูดคำเดียวโดดๆ ไม่ได้ เช่น พ่อ แม่ หม่ำๆ เป็นต้น บางคนมีภาษาที่ตนเองเข้าใจอยู่คนเดียว เช่น จุ๊กกะปิจู้ หมายถึงขวดนม บางครั้งจะเปล่งคำที่ไม่มีความหมายซ้ำๆ หรือที่นิยมเรียกกันว่าภาษาต่างดาว เช่น ด่าดี๊ดา กุ๊ปกะแรบ เป็นต้น ไม่พูดกับคนที่มาคุยด้วย แต่สามารถร้องเพลงโฆษณาทางทีวียาวๆ ได้ ใช้ประโยคคำถามเป็นบอกเล่า เช่น อยากบอกแม่ว่าหิวข้าวแต่กลับพูดว่า “แม่หิวข้าวไหม” ไม่มีการแสดงท่าทางเพื่อสื่อสาร โทนเสียงเดียวไม่มีเสียงสูงต่ำ ไม่เข้าใจมุขตลก การเล่นคำ การเปรียบเทียบหรือประชดประชัน บางคนพูดเฉพาะเรื่องที่ตนเองสนใจได้นานๆ โดยไม่รับรู้ว่าคนที่ฟังเบื่อหรือไม่ได้สนใจไปกับเขาด้วย
ด้านพฤติกรรมซ้ำๆ : มักเล่นของเล่นชิ้นเดิม เช่น ชอบเล่นหลอดกาแฟ ของกลมๆ หมุนขวดนม จ้องมองวัตถุที่หมุนได้ เช่น พัดลม, ล้อรถนานๆ เอาของมาเรียงเป็นแถวและจะโมโหมากถ้ามีใครมาจัดใหม่ บางคนทำกิจวัตรประจำวันตรงเวลา มักทำอะไรตามขั้นตอนเดิมๆ เช่น ต้องนั่งรถกลับบ้านเส้นทางเดิม หากเปลี่ยนแปลงมักมีปฏิกิริยารุนแรง เช่น ร้องไห้อาละวาด บางคนมีความสนใจเป็นพิเศษบางเรื่องจนกลายเป็นความสามารถพิเศษไป เช่น ท่องตารางรถไฟได้ทั่วประเทศ ท่องชื่อ-เบอร์โทรในสมุดโทรศัพท์ได้ เห็นภาพครั้งเดียวก็จดจำรายละเอียดได้หมดเหมือนกับถ่ายรูปเก็บไว้ในสมองยังไงยังงั้น
สาเหตุของอาการข้างต้นทั้งหมดเกิดจากความผิดปกติของสมองค่ะ แต่อะไรกันที่มาทำให้สมองผิดปกติแบบนั้น ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ที่แน่ๆ ไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ดีหรือทอดทิ้งไม่เอาใจใส่เด็ก ดังนั้นผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นออทิสติกก็ไม่ต้องโทษตนเองหรือโทษว่าเป็นความผิดของใครนะคะ การให้กำลังใจซึ่งกันและกันจะเป็นส่วนช่วยในการดูแลน้องๆ กลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
เอกสารเพิ่มเติม
โดย...คุณครูห้องกระตุ้น
เข้าชม : 308
|