หัวใจของศึกษานิเทศก์ **
ก่อนที่ใครจะมาเป็นศึกษานิเทศก์ คงจะรู้จักศึกษานิเทศก์กันมาบ้างพอสมควร ทั้งภาพบวกและภาพลบ การที่ตัดสินใจเข้ามาเป็นศึกษานิเทศก์ คงจะมองเห็นภาพบวกมากกว่าภาพลบ แม้ภาพลบจะติดมาบ้างก็ตาม
ทำอย่างไรจึงจะให้ภาพบวกตรึงตาติดใจอยู่ตลอดไป จึงเป็นสิ่งที่ต้องไตร่ตรอง มองให้เห็นคุณค่าของความเป็นศึกษานิเทศก์ให้ถ่องแท้ จนมั่นใจในการตัดสินใจมาเป็นศึกษานิเทศก์
คำถามที่จะต้องถามตัวเองเพื่อความมั่นใจนั้น มีอยู่ 3 ข้อ คือ
ข้อ 1 เขามีศึกษานิเทศก์ไว้ทำไม?
ข้อ 2 ศึกษานิเทศก์มีหลักการทำงานอย่างไร?
ข้อ 3 ศึกษานิเทศก์มีหลักในการปฏิบัติอย่างไร?
ท่านอภิมหาศึกษานิเทศก์ นายวินัย เกษมเศรษฐ อดีตหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา ได้พูดถึงคำตอบทั้ง 3 ข้อ * ที่ศึกษานิเทศก์ควรพิจารณาประกอบคำตอบของตัวเอง ดังนี้
คำตอบข้อ 1 ศึกษานิเทศก์มีไว้เพื่อบริหารความเปลี่ยนแปลง
การบริหาร หมายถึง การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับ จุดประสงค์ของศึกษานิเทศก์
การเปลี่ยนแปลง หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาทั้งในสังคมโดยทั่วไป และในโรงเรียน
ศึกษานิเทศก์จะต้องวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิด เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารให้ครูเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
การไปนิเทศของศึกษานิเทศก์ จึงไม่ใช่ไปรับปัญหาของโรงเรียน แต่ไปเพื่อบริหารความเปลี่ยนแปลง
คำตอบที่ 2 การทำงานของศึกษานิเทศก์ต้องสอดคล้องกับนโยบายของกรมสามัญศึกษา โดยมีเงื่อนไข ที่ต้องพิจารณานำไปปฏิบัติ 3 ประการ
1. คน
2. งาน
3. สถานการณ์
คน ได้แก่ ครู ซึ่งมีค่านิยม ประสบการณ์ และความรู้สึกนึกคิดต่างกัน
งาน มี 4 ประเภท คือ
- งานปกติ
- งานที่มีปัญหา ศน.ต้องรู้จักปัญหา ข้อจำกัด แล้วหาวิธีแก้ให้ตรงปัญหา
- งานริเริ่มสร้างสรรค์
- งานพัฒนามนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะเป็นหัวใจที่จะทำงานทั้ง 3 ประเภท ดังกล่าวแล้วให้สำเร็จได้
สถานการณ์ มี 2 ประเภท คือ
- สถานการณ์ที่เกี่ยวกับคน
- สถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
การทำงานของศึกษานิเทศก์จึงต้องให้เหมาะสม สอดคล้องกันทั้ง 3 ประการ คือ คน งาน และสถานการณ์
คำตอบข้อ 3 งานของศึกษานิเทศก์เป็นวิชาชีพ (Professional Growth, Career Development)
ศึกษานิเทศก์จึงต้องปฏิบัติตน ดังนี้
1. เรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Directed Learner) โดย
- รับรู้นานาวิทยาการ
- เรียนรู้ ในด้านความรู้ ความคิด และเจตคติ
- จำได้
- คิดได้ถูกต้องตามเงื่อนไขของการทำงาน คือ คน งาน และสถานการณ์
2. สามารถทำงานเป็นกลุ่มได้ โดย
- มีความเหนียวแน่นในกลุ่ม (Group Cohesion)
- มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Relationship)
ใครจะตอบคำถามทั้ง 3 ข้อข้างต้นอย่างไร หรือจะขานรับคำตอบของอดีตหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ หรือไม่ ก็เป็นสิทธิของตัวเอง แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว คำตอบทั้ง 3 ข้อนี้คือ “หัวใจของศึกษานิเทศก์”
เข้าชม : 824
|