การศึกษาต่อเนื่อง
ความนำ
องค์การยูเนสโกได้เผยแพร่แนวคิดสังคมการเรียนรู้ ในรายงาน“เรียนรู้เพื่อชีวิต” (Learning to Be) ในปี ค.ศ. 1972 เป็นเวลา 37 ปี มาแล้ว กล่าวคือสังคมการเรียนรู้ เป็นสังคมที่หน่วยงานทั้งหมดของสังคมเป็นผู้จัดการศึกษา ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ที่รับผิดชอบจัดการศึกษาในระบบเท่านั้นสมาชิกในสังคมนั้น ๆ มีส่วนร่วมรับผิดชอบอย่างเต็มที่กับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้จะทำให้ประชาชนสามารถศึกษาหาความรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย ประชาชน สามารถวางแผน และกำหนดวัตถุประสงค์ที่จะเรียนรู้ โดยแสวงหาโอกาสที่จะศึกษาต่อเนื่อง และเลือกวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง
การศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Education) หมายถึง การศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการและความจำเป็นของบุคคลต่อเนื่องไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาอุดมศึกษาในรูปของกิจกรรมการเรียนรู้หรือหลักสูตรการเรียนรู้ ประเภทมีหน่วยกิตและไม่มีหน่วยกิตซึ่งมิใช่การศึกษาตามระบบปกติ การศึกษาต่อเนื่อง เป็นได้ทั้งการฝึกอบรมด้านอาชีพการยกระดับฝีมือในการทำงาน รวมทั้งหลักสูตรการพัฒนาตนเองเพื่อการทำงาน และการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขปัญหา การศึกษาต่อเนื่องยังเป็นการศึกษาที่บุคคลภายนอกสามารถลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ ที่จัดโดยภาควิชาหรือคณะการศึกษาต่อเนื่องของวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย เช่นในประเทศไทย หลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องของศูนย์การศึกษาต่อเนื่องแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ เป็นต้น ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นวิชาต่าง ๆ สำหรับวิธีและรูปแบบการสอนของการศึกษาต่อเนื่อง มีทั้งการสอนแบบชั้นเรียน และการสอนแบบปฏิบัติการ รวมทั้งการสอนด้วยวิธีทางไกล เช่น การใช้วีดิทัศน์ ซีดี-รอมรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ และการสอนทางอินเตอร์เน็ต e-Learning ตามความเหมาะสมของเนื้อหาและหลักสูตร
ความหมายของการศึกษาต่อเนื่อง
การศึกษาต่อเนื่องเป็นการศึกษาที่จัดขี้นเพื่อสนองความต้องการและความจำเป็นของบุคคลต่อเนื่องไปจากการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาโกวิท วรพิพัฒน์ (อ้างถึงในกรมการศึกษานอกโรงเรียน, 2537) ได้ให้ความหมายของการศึกษาต่อเนื่องว่าเป็นการให้ความรู้เพิ่มเติมเรื่องที่ได้ศึกษามาแล้วในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เมื่อบุคคลจบการศึกษาไปประกอบอาชีพระยะหนึ่ง แล้วมีความจำเป็นต้องหาความรู้เฉพาะ หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเพิ่มเติม ทำให้ผู้นั้นสมัครเรียนเพิ่มเติมจากสถาบันการศึกษา เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการและเทคโนโลยีของสังคมโลก โดยอาจได้รับประกาศนียบัตรหรือใบรับรอง การศึกษาต่อเนื่องในรูปของการศึกษาผู้ใหญ่ที่จัดให้แก่ผู้เรียนที่มีอายุเกินวัยเรียนตามกฎหมาย แต่ไม่มีโอกาสเข้าเรียนด้วยเหตุที่ยากจน ต้องประกอบอาชีพหรือเร่ร่อน อพยพย้ายถิ่น อยู่ท้องถิ่นห่างไกล บุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้ หรือทักษะการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นมีวิชาความรู้ทางอาชีพ มีคุณธรรมจริยธรรม และหน้าที่พลเมืององค์การยูเนสโก นิยามการศึกษาต่อเนื่องว่าเป็น “ความคิดรวบยอดอย่างกว้าง ๆ ซึ่งรวมถึงโอกาสทั้งปวงตามความต้องการและความจำเป็นในการเรียน นอกเหนือไปจากการศึกษาเพื่อการอ่านออกเขียนได้ขั้นพื้น ฐาน เป็นการศึกษาที่ให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับบุคคลสรุปการศึกษาต่อเนื่อง หมายถึง
• การศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้อ่านออกเขียนได้
• การจัดการศึกษาที่สนองความต้องการความจำเป็นของผู้เรียน
• การจัดประสบการณ์ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยหน่วยงานทางการศึกษาต่าง ๆ
• การศึกษาที่ถูกกำหนดในรูปของโอกาส เพื่อให้ผูกพันต่อเนื่องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต หลังจากจบระดับประถมศึกษาหรือเทียบเท่า
• การศึกษาที่ให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ตลอดชีวิตให้กับบุคคล
วัตถุประสงค์/เป้าหมายของการศึกษาต่อเนื่อง
1. เพื่อตอบสนองต่อการดำรงชีวิตด้วยบูรณาการการเรียนรู้การทำงาน และการดำรงชีวิตของบุคคล
2. เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ
3. เพื่อทำให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
รูปแบบการจัดการศึกษาต่อเนื่อง
การศึกษาต่อเนื่องมีรูปแบบการจัด 6 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
รูปแบบที่ 1 การจัดการศึกษาหลังการรู้หนังสือแล้ว การศึกษาในรูปแบบนี้มีเป้าหมายที่จะคงสภาพ และส่งเสริมการรู้หนังสือ คิดเลขเป็นและมีทักษะในการแก้ปัญหาได้ มีทักษะความรู้ พื้นฐานในการทำงาน และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รูปแบบที่ 2 การจัดการศึกษาเพื่อการเทียบโอน การศึกษาในรูปแบบนี้กำหนดให้เป็นทางเลือกทางการศึกษาที่จะเลือกเรียนทางสายสามัญหรือสายอาชีพ
รูปแบบที่ 3 การจัดการศึกษาเพื่อการมีรายได้ การศึกษาในรูปแบบนี้ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเลือกการเรียน เพื่อเป็นทักษะในการประกอบอาชีพ โดยผู้เรียนสามารถที่จะประกอบอาชีพได้ การเรียนในรูปฝึกทักษะอาชีพนี้ สามารถจัดได้ในหลายลักษณะ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถหารายได้อย่างพอเพียง
รูปแบบที่ 4 การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาในรูปแบบนี้มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนและชุมชนเกี่ยวกับความรู้ ทัศนคติเพื่อสร้างคุณค่าและทักษะ เพื่อให้ประชาชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละคนในอันที่จะเป็นสมาชิกของชุมชน
รูปแบบที่ 5 การจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมความสนใจส่วนบุคคล การศึกษาในรูปแบบนี้จัดเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละคนมีส่วนร่วมและเรียนรู้เกี่ยวกับที่สังคมต้องการ วัฒนธรรม ความเชื่อ สุขภาพอนามัยและความสนใจทางด้านศิลปะ
รูปแบบที่ 6 การจัดการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับอนาคต การศึกษาในรูปแบบนี้ จัดให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ผู้ชำนาญการสาขาต่าง ๆ ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน นักธุรกิจ และนักวางแผน เกี่ยวกับทักษะใหม่ ๆเกี่ยวกับความรู้และเทคนิคที่จะพัฒนาตนเองและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เขาเหล่านั้นรับผิดชอบให้เหมาะสมกับความเจริญเติบโตของสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
ตัวอย่าง
คุณวิทยา ผู้บริหารสถานศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ/เขต ลงทะเบียนเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน ของศูนย์การศึกษาต่อเนื่องแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางระบบ e-Learning โดยชำระค่าลงทะเบียน 300 บาท ระยะเวลาเรียนตามหลักสูตร 30 วัน
สรุป
รูปแบบการจัดการศึกษาต่อเนื่องในอนาคตจะมีแนวโน้มการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ และอิทธิพลของเทคโนโลยี การสื่อสาร สถาบันอุดมศึกษาเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่จบการศึกษาสาขาต่างๆ ให้สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทุกภาคส่วนของสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาต่อเนื่องมากขึ้น
แหล่งอ้างอิง
กรมการศึกษานอกโรงเรียน. 2537. การศึกษาต่อเนื่อง : นโยบายและทางเลือกใหม่. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ คุรุสภา ลาดพร้าว .
เข้าชม : 1433 |