การวางแผนการนิเทศ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของสำนักงาน กศน.จังหวัด
Posted by: panchalee on: 31 สิงหาคม 2011
In: การนิเทศ กศน Comment!
ความสำคัญ
การวางแผนการนิเทศเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งในการบริหารงานนิเทศการศึกษาของสำนักงาน กศน.จังหวัด เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการนิเทศที่มีประสิทธิภาพ และเน้นการทำงานที่เป็นระบบ เพื่อประโยชน์ของสถานศึกษาในสังกัด คือ กศน. อำเภอ โดยใช้แผนเป็นเครื่องมือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานนิเทศ ใช้แสดงรายละเอียดและเค้าโครงของสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ บอกให้รู้ถึงจุดมุ่งหมาย สิ่งที่คาดหวัง ระบุวัตถุประสงค์ที่ต้องการที่ได้กำหนดไว้ บอกเป้าหมายที่ต้องการในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ของการดำเนินงานตามแผน แสดงวิธีการดำเนินงานที่มุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ แสดงให้เห็นถึงงบประมาณ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการทำงาน แสดงถึงวิธีการติดตามควบคุมกำกับการปฏิบัติงานนิเทศและการประเมินผลสำเร็จของการนิเทศ ตามที่กำหนดไว้ในแผน
1.หลักการวางแผนนิเทศการศึกษา
1.1 ผู้รับผิดชอบในการวางแผน
ผู้รับผิดชอบในการวางแผนการนิเทศคือผู้บริหาร กศน. จังหวัด เพราะงานนิเทศเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้บริหาร และผู้ร่วมวางแผนได้แก่ศึกษานิเทศก์ ผู้ได้รับมอบหมายทำหน้าที่นิเทศ และผู้รับการนิเทศ ได้แก่ครู และผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้เนื่องจากการจัดการนิเทศการศึกษาเป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ให้การนิเทศและผู้รับการนิเทศ
1.2 ขอบเขตของงานนิเทศ กศน.
ขอบเขตของงานนิเทศ กศน. เนื่องจากงานนิเทศ กศน.นั้นเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาของสถานศึกษาให้มีความรู้ความสามารถในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการนิเทศ กศน. จึงเกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถปฏิบัติงานตามภารกิจของสถานศึกษา ตามโครงสร้างการบริหารของ กศน.อำเภอ แบ่งเป็น 3 กลุ่มงาน ดังนี้
1) กลุ่มงานอำนวยการ งานธุรการและสารบรรณ งานการเงินและบัญชี งานงบประมาณและระดมทรัพยากรงานพัสดุ งานบุคลากร งานอาคารสถานที่และยานพาหนะ งานแผนงานและโครงการ งานประชาสัมพันธ์ งานสวัสดิการ งานข้อมูลสารสนเทศและการรายงาน ศูนย์ราชการใสสะอาด งานควบคุมภายใน งานนิเทศภายใน ติดตามประเมินผล งานเลขานุการคณะกรรมการสถานศึกษา งานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
2) กลุ่มงานจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
2.1) งานส่งเสริมการรู้หนังสือ
2.2) งานการศึกษานอกระบบ
2.2.1) งานการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.2.2) งานการศึกษานอกระบบการศึกษาต่อเนื่อง
- งานการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ
– งานการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต
– งานการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน
– งานการศึกษาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2.3 งานการศึกษาตามอัธยาศัย
- งานจัด/พัฒนาแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
- งานห้องสมุดประชาชน
2.4 งานพัฒนา กศน.ตำบล
2.5 งานพัฒนาหลักสูตรสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
2.6 งานทะเบียนและวัดผล
2.7 งานศูนย์บริการให้คำปรึกษาแนะนำ
2.8 งานกิจการนักศึกษา
3) กลุ่มภาคีเครือข่ายและกิจการพิเศษ
- งานส่งเสริมสนับสนุนภาคีเครือข่าย
- งานกิจการพิเศษ
- งานป้องกัน แก้ไขปัญหายาเสพติด/โรคเอดส์
- งานส่งเสริมกิจกรรมประชาธิปไตย
- งานสนับสนุน ส่งเสริมนโยบายจังหวัด/อำเภอ
- งานกิจการลูกเสือและยุวกาชาด
- งานอื่น ๆ
1.3 การวางแผนนิเทศ กศน. ที่ดี
ผู้ทำหน้าที่วางแผนนิเทศควรมีความรู้ ความสามารถ ดังต่อไปนี้
3.1 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผน แผนงาน/โครงการ การติดตามและประเมินผล
3.2 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ กิจกรรม กศน. แลภารกิจของสถานศึกษา
3.3 มีข้อมูลเกี่ยวกับ บทบาทหน้าที่ ความรู้ ความสามารถของครูและบุคลากรทางการศึกษาและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ของสถานศึกษา
3.4 การกำหนดแผนงาน/โครงการ ต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อจะสามารถปรับปรุงแก้ไข เปลี่ยนแปลงบางส่วนได้โดยไม่กระทบต่อเป้าหมายแต่อย่างใด
2. กระบวนการในการวางแผนการนิเทศ มี 4 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 การประเมินสภาพปัจจุบันปัญหาความต้องการและความจำเป็นในการนิเทศ กศน.
ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดจุดมุ่งหมายในการนิเทศ
ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดทางเลือก
ขั้นตอนที่ 4 การจัดทำโครงการนิเทศ
แนวทางในการปฏิบัติภารกิจในการวางแผนการนิเทศ กศน. มีเทคนิควิธีการดำเนินงานดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การประเมินสภาพปัจจุบัน ปัญหา ความต้องการและความจำเป็นในการนิเทศ กศน
หลักการในการจัดการนิเทศการศึกษานั้น จะมีจุดเริ่มต้นจากสภาพที่เป็นปัญหาความต้องการและความจำเป็นในการปรับปรุงคุณภาพ กศน.ให้ดียิ่งขึ้น การที่จะทราบปัญหาความต้องการความจำเป็นในการนิเทศ สามารถดำเนินการได้ 2 ลักษณะ คือ
1) การศึกษาปัญหาการจัด กศน. ที่เป็นปัญหาเฉพาะ(Study of Specific Problem) การศึกษาปัญหาเฉพาะเป็นการวิเคราะห์ถึงรายละเอียดของสภาพข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเร่งด่วนหรือปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นใน กศน. อำเภอ ยกตัวอย่าง เช่น
1.1) ปัญหาเกี่ยวกับนักศึกษา
- นักศึกษา กศน.ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ภาคเรียนที่ 2/2554 ของ กศน.อำเภอ ………. มีผลสัมฤทธิ์ในสาระความรู้พื้นฐานต่ำกว่าร้อยละ 60
- นักศึกษา กศน.ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ลงทะเบียนเรียนภาคเรียนที่ 1/2554 ของ กศน.อำเภอ ……… มีอัตราคงอยู่ต่ำกว่าร้อยละ50
- 1.2) ปัญหาเกี่ยวกับครู
- ครูยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำแผนการเรียนรู้ ทำให้ไม่สามารถจัดทำแผนการเรียนรู้ได้
- ครูยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำวิจัยในชั้นเรียน ทำให้ไม่สามารถทำวิจัยในชั้นเรียนได้
- ครู กศน. ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบโครงงานได้
1.3) ปัญหาผู้บริหาร กศน. อำเภอ
- ผอ. กศน. อำเภอ ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนิเทศภายใน ทำให้ไม่สามารถนิเทศภายในอย่างเป็นระบบได้
1.4) ปัญหา กศน. อำเภอ
- ผลการประเมินภายนอกของ กศน.อำเภอไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
สภาพการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาวิกฤต(Critical problem) ดังนั้นจะต้องศึกษาหาสาเหตุของปัญหาและวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาเพื่อนำข้อมูลมาวางแผนแก้ปัญหาต่อไป สำหรับวิธีการศึกษาและวิเคราะห์ปัญหานั้น มีหลายวิธี ที่สามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสม เช่น การสัมภาษณ์ การสอบถาม การสังเกต การวิเคราะห์องค์ประกอบ การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น
2) การประเมินความต้องการ ความจำเป็น(Needs Assessment) วิธีประเมินความต้องการ ความจำเป็นสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
2.1) การศึกษารวบรวมข้อมูลความต้องการ ความจำเป็นโดยตรงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัด กศน.ของสถานศึกษา ได้แก่ ครู กศน. และผู้ปฏิบัติงาน ของสถานศึกษา ผู้เรียน/ผู้รับบริการ และชุมชน เช่น ผู้นำชุมชน กรรมการสถานศึกษา เป็นต้น โดยวิธีการวิจัยเชิงสำรวจ การสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง การสังเกตการณ์เข้าร่วมกิจกรรม กศน. หรือการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ต่าง ๆ และการระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง
2.2) การศึกษาโดยทางอ้อม ได้แก่การวิจัยเอกสาร การรับฝังความคิดเห็นจากแหล่งต่าง ๆ
การประเมินความต้องการความจำเป็น อาจเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งที่เหมาะสมกับสถานการณ์หรืออาจจะใช้ทั้งสองวิธี ก็ได้
ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดจุดมุ่งหมายในการนิเทศ
1. ลักษณะของการกำหนดจุดมุ่งหมายการนิเทศ มีสองลักษณะคือจุดมุ่งหมายระยะสั้นและจุดมุ่งหมายระยะยาว ซึ่งการกำหนดจุดมุ่งหมายลักษณะใดขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่อไปนี้
1.1) สภาพความสำคัญของปัญหา ในสถานศึกษาแต่ละแห่งซึ่งมีปัญหาเดียวกันแต่ความรุนแรงหรือความสำคัญของปัญหาอาจแตกต่างกัน ย่อมทำให้ระดับของการตั้งจุดมุ่งหมายมีความแตกต่างกันด้วย เช่นปัญหานักศึกษา กศน.ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ภาคเรียนที่ 2/2554 มีผลสัมฤทธิ์ในสาระความรู้พื้นฐานต่ำกว่าร้อยละ 60 กศน.อำเภอหลายแห่งอาจมีปัญหาในเรื่องนี้ แต่ร้อยละของนักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ในสาระความรู้พื้นฐานต่ำกว่าร้อยละ 60 มีปริมาณแตกต่างกัน จึงมีผลทำให้ความเร่งด่วนหรือความสำคัญของจุดมุ่งหมายการนิเทศ แตกต่างกันไปด้วย
1.2) ประสบการณ์และความสามารถในการแก้ปัญหาของผู้ทำหน้าที่นิเทศแต่ละสถานศึกษามีความแตกต่างกัน ผู้นิเทศของสถานศึกษาที่มีประสบการณ์นิเทศมากและมีความสามารถในการทำงานนิเทศสูง จะตั้งจุดมุ่งหมาของการนิเทศที่มีความชัดเจน มีความเป็นไปได้ ลักษณะของจุดมุ่งหมายของการนิเทศที่ตั้งขึ้นจะมีเป้าหมายระยะยาว มีการทำงานนิเทศให้บรรลุจุดมุ่งหมายอย่างต่อเนื่องและตั้งจุดมุ่งหมายไว้สูงกว่าผู้นิเทศที่มีประสบการณ์น้อย
2) หลักในการกำหนดจุดมุ่งหมายการนิเทศ ในการกำหนดจุดมุ่งหมายการนิเทศ มีหลักที่ควรยึดถือดังนี้
2.1) การกำหนดจุดมุ่งหมายการนิเทศ ควรกำหนดร่วมกันระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ เพื่อให้การปฏิบัติการนิเทศไปสู่เป้าหมายเดียวกันและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2.2) การกำหนดจุดมุ่งหมายของการนิเทศควรมีความเป็นไปได้ โดยพิจารณาจากความพร้อมของผู้นิเทศ ทรัพยากรที่ใช้ในการนิเทศ วิธีการนิเทศและการบริหารจัดการนิเทศ
2.3) การกำหนดจุดมุ่งหมายระยะยาว ควรแบ่งเป็นจุดมุ่งหมายย่อย ๆ เป็นช่วง ๆ เพื่อให้สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายได้โดยง่าย
2.4) การสื่อสารจุดมุ่งหมายการนิเทศให้คณะผู้นิเทศมีความเข้าใจตรงกันและร่วมมือกันในการปฏิบัติงานนิเทศ เพื่อให้การนิเทศบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดทางเลือก (Selecting of Alternatives)
ในการนิเทศให้บรรลุเป้าหมาย สามารถดำเนินการได้หลายวิธีการ ดังนั้นในการกำหนด วิธีการนิเทศจำเป็นจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อจะได้ทางเลือกที่เหมาะสมและสามารถบรรลุเป้าหมายได้โดยง่าย
1) หลักการกำหนดทางเลือก
1.1) การนิเทศให้บรรลุผลสำเร็จนั้นไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการนิเทศหลายวิธี ควรเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่คิดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้
1.2) วิธีการนิเทศบางวิธีอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของสถานศึกษาบางแห่ง
1.3) ผู้นิเทศแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้นิเทศจะต้องเลือกวิธีการนิเทศที่เหมาะสมกับตนเอง
2) การระบุทางเลือก หลังจากกำหนดจุดมุ่งหมายการนิเทศอย่างชัดเจนแล้ว ภารกิจที่จะต้องทำต่อไปคือการระบุทางเลือก ในการนิเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสามารถดำเนินการได้หลายวิธีการ ผู้นิเทศจะต้องพยายามศึกษาข้อดีและข้อจำกัดของวิธีการนิเทศแบบต่าง ๆ และเลือกวิธีการนิเทศที่มีความเป็นไปได้สูงสุด นำไปปฏิบัติเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ การบุทางเลือกคือการหาทางแก้ปัญหาการจัดการศึกษา กศน.นั่นเอง การแก้ปัญหาที่ได้ผลดีนั้นจำเป็นจะต้องแสวงหาข้อมูลต่าง ๆให้มากที่สุด เพื่อจะได้วิธีนิเทศที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาภายในเวลาที่กำหนดไว้
3) การประเมินทางเลือก ในการนิเทศเพื่อแก้ปัญหาการจัด กศน. ซึ่งเป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ผู้นิเทศอาจใช้ประสบการณ์เดิมมาเป็นแนวทางในการนิเทศเพื่อแก้ปัญหา แต่สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่นั้น ก่อนที่จะเลือกวิธีการนิเทศจำเป็นจะต้องแสวงหาข้อมูลต่าง ๆ ตลอดจนความมุ่งหวังของผู้รับการนิเทศ สำหรับการประเมินทางเลือกในการนิเทศนั้น ควรยึดหลักอย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรกความเป็นได้ (possibility) ของทางเลือกในการที่จะทำให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการนิเทศที่กำหนดไว้ และประการที่สองสภาพทรัพยากร (resources) ที่มีอยู่จะสามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีการนิเทศนั้น ๆได้ดีเพียงใด
วิธีการประเมินทางเลือกนั้น คูนทซ์ โอดอนเนลและวีนริช (Koontz,O Donnell and Weinhrich,1982) กล่าวว่ามี 3 วิธีการ คือ การใช้ประสบการณ์ การทดลอง และการวิจัย
3.1) การใช้ประสบการณ์ (Experience) เป็นการใช้ประสบการณ์ในอดีตมาเป็นข้อมูลสำหรับวินิจฉัยในบางโอกาสการใช้ประสบการเดิมเป็นเรื่องที่ได้ผลดีมาก แต่บางครั้งก็ไม่ประสบผลสำเร็จโดยวิธีการนิเทศแบบเดิม การใช้ประสบการณ์ในอดีตจะช่วยให้ตระหนักถึงความสำเร็จและความล้มเหลวในภารกิจการนิเทศแต่ละภารกิจ และนำประสบการณ์นั้นมาเป็นเกณฑ์ในกาจพิจารณาตัดสินเกี่ยวกับทางเลือก การใช้ประสบการณ์เดิมเป็นเครื่องตัดสินใจมีข้อจำกัดหลายประการ คือ
- คนเราไม่สามารถจดจำความสำเร็จหรือความล้มเหลวในอดีตได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่เป็นการเพียงพอสำหรับการตัดสินใจ
- ประสบการณ์ในอดีตอาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหาชนิดใหม่ การตัดสินใจที่ดีจึงควรใช้เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอนาคตจะดีกว่าใช้ประสบการณ์ในอดีต อย่างไรก็ตามการใช้ประสบการณ์ในอดีตมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาก็ยังมีความสำคัญอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติงานนิเทศที่ไม่มีข้อมูลอยู่เลยจะพบว่ามีความยุ่งยากยิ่งกว่าการใช้ประสบการณ์เดิมหรืออาศัยข้อมูลในอดีตมาเป็นพื้นฐานในการพิจารณา
3.2) การทดลอง(Experimentation) เป็นวิธีการเลือกทางเลือกที่สามารถตัดสินใจที่ได้ข้อมูลอย่างชัดเจนที่สุดวิธีการหนึ่ง คือการทดลองเพื่อให้เห็นว่าวิธีการนิเทศที่นำไปใช้นั้นจะได้ผลอย่างไร วิธีการทดลองนั้นเป็นวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายและใช้เวลา การทดลองเป็นวิธีการที่มีความเหมาะสมที่สุดที่จะทำให้ไม่เกิดความล้มเหลวหรือเกิดความผิดพลาดในการทำงาน การใช้วิธีการทดลองอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้างในเรื่องเทคนิควิธี การทดลองเป็นการทำงานในสภาพการณ์ในขอบเขตจำกัด ในสถานการณ์จริงอาจไม่เป็นไปตามการทดลองก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนิเทศที่เกี่ยวข้องกับครูและผู้ปฏิบัติงานจำนวนมาก มักมีความผันแปรกับลักษณะของครูและผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก
3.3) วิธีวิเคราะห์และวิจัย เป็นวิธีการที่ใช้อย่างได้ผลในการประเมินทางเลือก โดยการแยกองค์ประกอบของวิธีการนิเทศแต่ละวิธีออกส่วน ๆ แล้วทำการศึกษาวิเคราะห์องค์ประกอบของวิธีการนิเทศนั้น ๆแต่ละส่วนทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อให้ทราบว่าในแต่ละวิธีการนิเทศนั้น วิธีการใดมีความเป็นไปได้สูงกว่าวิธีการอื่น การประเมินทางเลือกวิธีการนิเทศโดยกระบวนการวิจัยถือว่าเป็นวิธีการที่ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้องมากกว่าการใช้ประสบการณ์ และเป็นวิธีการที่ลงทุนต่ำกว่าวิธีทดลอง ดังนั้นวิธีการประเมินทางเลือกจึงนิยมใช้วิธีการวิเคราะห์วิจัยมากกว่าวิธีการอื่น ๆ
ขั้นตอนที่ 4. การจัดทำโครงการนิเทศ
การจัดทำโครงการนิเทศ หลังจากที่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันปัญหา ความต้องการและความจำเป็นในการนิเทศ มีจุดมุ่งหมายการนิเทศที่ชัดเจน และได้ทางเลือกในการปฏิบัติงานนิเทศแล้ว ภารกิจที่จะต้องทำในขั้นตอนสุดท้ายของการวางแผนนิเทศคือการจัดทำโครงการนิเทศ
4.1 ความหมายของโครงการ(PROJECT) หมายถึง : กิจกรรมหรือกลุ่มกิจกรรมและการปฏิบัติที่มีลักษณะเฉพาะ แตกต่างไปจากการทำงานปกติ เป็นการปฏิบัติงานเฉพาะ เป็นการดำเนินการเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะที่ชัดเจนของโครงการนั้นเท่านั้น โครงการจะมีลักษณะเป็นงานที่มีจุดเริ่มต้นและมีจุดสิ้นสุดของการดำเนินงานที่ชัดเจนซึ่งแตกต่างไปจากงานประจำโครงการสามารถสนองนโยบายของหน่วยงานได้
4.2 ความสำคัญของโครงการ
1) โครงการสามารถใช้เป็นหลักฐานในการปฏิบัติงาน
2) การดำเนินงานตามโครงการทำให้บรรลุวัตถุประสงค์เร็วขึ้น
3) ทำให้ประหยัดทรัพยากรเนื่องจากโครงการได้กำหนดกรอบในการใช้งบประมาณ
4) โครงการเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงานโครงการ
4.3 ลักษณะของโครงการที่ดี
1) สามารถนำไปปฏิบัติได้ ไม่เพ้อฝัน ไม่เลื่อนลอย
2) มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและชุมชน
3) มีรายละเอียดชัดเจน เช่น กลุ่มเป้าหมาย วิธีการ ระยะเวลา
4) มีทรัพยากรเพียง เช่น งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะ
5) ตรงกับพันธกิจของหน่วยงาน
4.4 โครงสร้างของโครงการ
1) ชื่อโครงการ
2) หลักการและเหตุผล
3) วัตถุประสงค์
4) เป้าหมาย
5) วิธีดำเนินการ
6) ระยะเวลาดำเนินการ
7) งบประมาณ/แผนเบิกจ่ายงบประมาณ
8) การประเมินผล
9) เครือข่าย
10) ผลลัพธ์
11) ตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ
12) การติดตามประเมินผล
13) ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
14) ผู้รับผิดชอบโครงการ
15) ความสัมพันธ์กับโครงการอื่น
4.5 การเขียนโครงการ
1) ชื่อโครงการ ชื่อโครงการจะต้องบ่งบอกว่าทำอะไร อ่านแล้วเข้าใจและมองเห็นภาพของงาน การตั้งชื่อโครงการควรครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้
1.1) มีความชัดเจน เหมาะสม กระชับ
1.2) เฉพาะเจาะจงเข้าใจง่าย
1.3) บ่งบอกถึงสิ่งที่จะทำ
2) หลักการและเหตุผล หลักการและเหตุผล หรือเหตุผลความจำเป็น หรือความสำคัญของปัญหาเป็นการแสดงถึงเหตุผลที่ต้องทำโครงการว่า ทำไมต้องทำ ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ใครบ้าง การเขียนหลักการและเหตุผล ควรครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้
2.1) ระบุเหตุผลและความจำเป็น
2.2) มีหลักฐานอ้างอิง ไม่กล่าวลอย ๆ
2.3) มีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือ
2.4) ควรกล่าวถึงภาพรวมก่อนแล้วจึงกล่าวถึงปัญหา
3) วัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ เป็นเครื่องชี้ทิศทางการดำเนินงานของโครงการ โดยวัตถุประสงค์จะเป็นข้อความที่บอกให้ทราบว่า โครงการนี้จะทำอะไร ถ้ามีข้อความหลายข้อ ควรเขียนเรียงลำดับความสำคัญ จากที่มีความสำคัญมากไปหาน้อย วัตถุประสงค์มี 2 ลักษณะ
3.1) วัตถุประสงค์ทั่วไป เป็นการเขียนกำหนดทิศทางอย่างกว้าง ๆ
3.2) วัตถุประสงค์เฉพาะ เป็นการเขียนกำหนดทิศทางเฉพาะเจาะจง
4) เป้าหมาย เป็นการกำหนดถึงผลงานตามโครงการ เมื่อดำเนินโครงการไปแล้วจะได้อะไร การกำหนดเป้าหมายมี 2 ลักษณะ คือ
4.1) เป้าหมายเชิงปริมาณ เป็นการกำหนดผลงานในด้านปริมาณ ว่าจะได้อะไร เท่าไหร่
4.2) เป้าหมายเชิงคุณภาพ เป็นการกำหนดคุณภาพของผลงานที่ระบุไว้เชิงคุณภาพว่า ผลงานที่ได้จากโครงการดีอย่างไร มีคุณค่าอย่างไร เกิดประโยชน์อย่างไร
5) วิธีดำเนินการ เป็นขั้นตอนของการเขียนรายละเอียดภารกิจที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ มีวิธีเขียน ดังนี้
5.1) จำแนกกิจกรรมหลักหลาย ๆ กิจกรรมตามลำดับ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนกระทั้งเสร็จสิ้นโครงการ ให้ชัดเจน
5.2) กิจกรรมแต่ละกิจกรรมจะต้องกำหนดระยะเวลา โดยกำหนดเป็นแผนปฏิบัติงาน
ตัวอย่าง วิธีการดำเนินงานโครงการนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการดำเนินงาน กศน.ตำบล จังหวัดตาก ปีงบประมาณ 2554
6) ดำเนินการ ระยะเวลาในการดำเนินโครงการเป็นการระบุระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งถึงเวลาเสร็จสิ้นโครงการ
ตัวอย่างที่ 1
*เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553
*สิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2554
ตัวอย่างที่ 2
*ระหว่างวันที่ 10 เมษายน – 25 สิงหาคม 2554
ตัวอย่างที่ 3
*เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 – เมษายน 2555
7) งบประมาณ การระบุรายละเอียดงบประมาณมีหลักในการเขียนดังนี้
7.1) ในกรณีที่ทราบแน่ชัดว่าหน่วยงานใดให้การสนับสนุนงบประมาณให้ระบุแหล่งที่มาของงบประมาณและจำนวนเงินที่ได้รับ
7.2) ระบุรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณแต่ละกิจกรรมอย่างชัดเจนโดยอาจเขียนรายละเอียดแนบท้ายโครงการ
8) ผู้รับผิดชอบโครงการมีเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ในกรณีที่เป็นโครงการที่มีหลายฝ่ายดำเนินการร่วมกัน
9) เครือข่าย หมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล ชุมชน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแหล่งวิทยาการในชุมชน ที่มีส่วนร่วมส่งเสริมสนับสนุน ประสานงานในการดำเนินโครงการในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านวิทยากร อาคารสถานที่ งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินโครงการ
10) ความสัมพันธ์กับโครงการอื่น ในการเขียนโครงการควรระบุสาระรายละเอียดที่สัมพันธ์กับโครงการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ ดังนี้
10.1) เป็นการตรวจสอบว่ามีความซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นมากน้อยเพียงใด
10.2) ทำให้ทราบว่าผลที่ได้รับจากโครงการจะนำไปใช้ในประกอบการดำเนินงานของโครงการอื่นได้มากน้อยเพียงใด
10.3) ทำให้ทราบว่าความสัมพันธ์ระหว่างโครงการเป็นผลดีต่อการประสานงานแผนการปฏิบัติงานมากน้อยเพียงใด
11) ผลลัพธ์ (0utc0mes) ผลลัพธ์ หมายถึง ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการหรือผลประโยชน์จากผลผลิต (Outputs) ที่มีต่อบุคคล ชุมชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
12) ดัชนีวัดผลสำเร็จของโครงการ
12.1) ผลผลิต หมายถึง ตัวชี้วัดที่แสดงผลงานที่เป็นรูปธรรมในเชิงปริมาณและคุณภาพอันเกิดจากการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
12.2) ตัวชี้วัดผลลัพธ์ หมายถึง ตัวชี้วัดที่แสดงถึงผลประโยชน์จากผลผลิตที่มีต่อบุคคล ชุมชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
13) การติดตามประเมินผล
13.1) ระบุการติดตามผลและการประเมินผลให้ชัดเจน
13.2) ควรทำแผนควบคุมการประเมินโครงการ
13.3) เน้นการประเมินภายในโครงการ
14) ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมาในกรณีที่เป็นโครงการต่อเนื่อง
4.6 การวิเคราะห์โครงการ
การวิเคราะห์โครงการ หมายถึง การศึกษารายละเอียดของโครงการเพื่อการปรับปรุงเอกสารโครงการให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด และให้ได้โครงการที่ดี เหมาะสมกับการปฏิบัติงานของหน่วยงาน การวิเคราะห์โครงการเป็นวิธีการหนึ่งที่มีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินโครงการ ซึ่งมีแนวทางในการวิเคราะห์ดังนี้
1) โครงการที่เขียนมีองค์ประกอบสำคัญครบถ้วนสมบูรณ์
2) องค์ประกอบมีความถูกต้อง และชัดเจนตามหลักการเขียนโครงการ
3) องค์ประกอบต่าง ๆ มีความสอดคล้องและสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
4) โครงการมีความเป็นไปได้ในทางเทคนิควิชาการ มีความพร้อมในด้านวัสดุอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกความพร้อมในด้านงบประมาณ ตลอดจนความพร้อมในด้านบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน วิเคราะห์โครงการ
เข้าชม : 4611
|