[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 


เนื้อหา : บทความ/หลักสูตร
หมวดหมู่ : การศึกษานอกระบบ
หัวข้อเรื่อง : การกำหนดตัวบ่งชี้ในการประเมินโครงการ บทความกลุ่มที่ 9

พฤหัสบดี ที่ 15 เดือน กันยายน พ.ศ.2554

คะแนน vote : 250  



การกำหนดตัวชี้วัดในการประเมินโครงการ
ความหมายของตัวบ่งชี้
ตัวบ่งชี้ (ตัวชี้วัด เครื่องชี้วัด ดัชนีชี้วัด หรือตัววัด: Indicator) หมายถึง สิ่งที่ใช้วัดเพื่อตรวจสอบสภาวะหรือสถานะในเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพของสิ่งใดๆ ตามประเด็นการประเมินเพื่อให้ค่าระดับตามเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
เช่น ตัวบ่งชี้ผลสำเร็จของการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ นักศึกษาร้อยละ 70 สอบได้ GPA เกิน 2.50 โดยสำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด นักศึกษาสอบเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้อย่างน้อยร้อยละ 60 เป็นต้น

ประโยชน์ของตัวบ่งชี้
1. ในแง่ของการประเมินโครงการตัวบ่งชี้มีความสำคัญมากขาดไม่ได้ เพราะต้องเก็บข้อมูล
ตามตัวบ่งชี้ที่กำหนดไว้เพื่อดำเนินการในขั้นตอนอื่นๆ ของการประเมิน
2. ตัวบ่งชี้เป็นประโยชน์ต่อโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวบ่งชี้ผลต่างๆ จากโครงการ นอกจากผลโดยตรง (ผลผลิต : Output) แล้ว โครงการยังทำให้เกิดอะไรต่อไปซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ที่เรียกว่า “ผลลัพธ์” และส่งผลต่อเนื่องไปสู่บุคคล ชุมชน และสังคมได้อย่างไร ที่เรียกว่า “ผลกระทบ” โดยมีตัวบ่งชี้สากลที่ใช้กับทุกโครงการคือ “ความพึงพอใจ” ของผู้เกี่ยวข้องเป็นต้น
3. ตัวบ่งชี้มีบทบาทในการกำหนดความหมายของข้อความที่ระบุอยู่ในวัตถุประสงค์

ประเภทตัวบ่งชี้
1. แบ่งตามลักษณะของตัวบ่งชี้
1.1 ตัวบ่งชี้โดยตรง เป็นตัวบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตรงในประเด็นที่ต้องการประเมิน เช่น
ประเด็นที่ต้องการประเมิน ตัวบ่งชี้
- ความทั่วถึงของพื้นที่ที่ได้รับริการจากโครงการ - สัดส่วนของพื้นที่ที่ได้รับบริการจากโครงการกับ
พื้นที่เป้าหมายทั้งหมด
1.2 ตัวบ่งชี้ใกล้เคียง เป็นตัวบ่งชี้ลักษณะอื่นที่ใกล้เคียงกับประเด็นที่ต้องการประเมินซึ่งอาจใช้ตัวบ่งชี้เพียงตัวเดียวหรือหลายตัวซึ่งเป็นชุดของตัวบ่งชี้ในลักษณะเดียวกัน เช่น
ประเด็นที่ต้องการประเมิน ตัวบ่งชี้
- ความรู้ความเข้าใจ - ความแตกต่างระหว่างคะแนน Pre-test และ
คะแนน Post- test
- ความเหมาะสมของสื่อการเรียนรู้ - ร้อยละของนักศึกษาที่มีความพึงพอใจในการใช้สื่อการเรียนรู้

ตัวบ่งชี้ใกล้เคียงหรือตัวบ่งชี้ที่ใช้แทนกันได้เรียกว่า “ตัวบ่งชี้แทน” (Proxy Indicator)
1.3 ตัวบ่งชี้ผสม เป็นชุดของตัวบ่งชี้จากหลากหลายสาขาที่นำมาใช้ร่วมกันเพื่อนำมาตอบประเด็นที่ต้องการประเมิน (ระบุถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเด็นที่ต้องการประเมิน) เช่น
ประเด็นที่ต้องการประเมิน ตัวบ่งชี้
- การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี - การมีอาชีพ
- การมีรายได้
- ระดับการศึกษา
- การได้รับการยอมรับจากสมาชิกในชุมชน
- การมีสุขภาพอนามัยแข็งแรง

2. แบ่งตามลักษณะของกิจกรรม
2.1 ตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
เป็นต้น
2.2 ตัวบ่งชี้ทางสังคม เช่น อัตราการรู้หนังสือ จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ย อัตราการเกิด อัตราการตาย เป็นต้น
2.3 ตัวบ่งชี้ทางการเมือง เช่น ร้อยละของประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ร้อยละของนักการเมืองที่ทุจริตการเลือกตั้ง เป็นต้น
3. แบ่งตามลักษณะของข้อมูล
3.1 ตัวบ่งชี้ที่เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น ร้อยละของนักศึกษา ปวช.กศน.ที่มีผลการเรียน (GPA) 2.50 ขึ้นไป ร้อยละของผู้จบหลักสูตร ปวช.กศน.ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน (ได้รับการจ้างงาน) เป็นต้น
3.2 ตัวบ่งชี้ที่เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น ความพึงพอใจ การยอมรับ การมีเจตคติที่ดี เป็นต้น
4. แบ่งตามตัวแบบเชิงระบบ
4.1 ตัวบ่งชี้ปัจจัยป้อน (Input Indicator) เช่น อัตราส่วนระหว่างทรัพยากรที่ใช้กับผลที่ได้รับ เป็นต้น
4.2 ตัวบ่งชี้กระบวนการ (Process Indicator) เช่น นักศึกษา กศน.ขั้นพื้นฐานที่เข้าร่วมกิจกรรมพบกลุ่มทุกครั้งในภาคเรียนที่ 2/2552
4.3 ตัวบ่งชี้ผลผลิต (Output Indicator) เช่น สัดส่วนระหว่างผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการพัฒนาทักษะชีวิตกับจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมดในพื้นที่โครงการ เป็นต้น

ค่าของตัวบ่งชี้
1. ค่าในเชิงปริมาณ เป็นค่าของตัวบ่งชี้ที่เป็นตัวเลขโดยใช้ค่าสถิติเชิงพรรณนามาช่วยใน
การคำนวณ ที่นิยมใช้ได้แก่ ร้อยละ อัตราส่วน สัดส่วน จำนวน ค่าเฉลี่ย
2. ค่าในเชิงคุณภาพหรือคุณลักษณะ เป็นค่าของตัวบ่งชี้ที่ไม่สามารถกำหนดเป็นตัวเลขได้ เช่น ความเหมาะสม ความสอดคล้อง เป็นต้น แต่สามารถเปลี่ยนเป็นค่าเชิงปริมาณได้ เช่น การพิจารณา
ความสอดคล้องของหลักสูตรฝึกอบรมกับวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษา จำนวน 10 คน มี 8 คนเห็นว่าสอดคล้อง 1 คนเห็นว่าไม่สอดคล้องและ อีก 1 คนไม่แน่ใจ ค่าของตัวบ่งชี้นี้คือ ร้อยละ 80 หรือ 8/10

ลักษณะของตัวบ่งชี้
1. สอดคล้องกับประเด็นที่ต้องการประเมิน โดยสามารถระบุถึงสถานการณ์ในประเด็นที่ต้องการประเมินได้อย่างชัดเจน มีความตรง คือ วัดได้ในสิ่งที่จะวัดอย่างถูกต้อง แม่นยำ ตรงประเด็น
มีความเป็นตัวแทนของประเด็นการประเมินนั้นๆ ได้
2. เป็นรูปธรรม คือ สามารวัดหรือสังเกตได้ เก็บรวบรวมข้อมูลได้
3. ได้รับการยอมรับจากผู้ใช้ผลงานประเมิน การได้รับการยอมรับย่อมส่งผลต่อคุณภาพของ
การประเมินและการยอมรับในผลการประเมินของผู้ใช้ผลการประเมิน
4. ความจำเพาะเจาะจง คือ ระบุชัดถึงช่วงเวลาของการดำเนินโครงการและจะมี
การเปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงเวลาใด
5. ความเป็นอิสระจากกัน คือ ตัวบ่งชี้แต่ละตัวต้องสะท้อนถึงหลักฐานอันแสดงถึงผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังของวัตถุประสงค์เฉพาะข้อนั้นๆ จะไม่สามารถใช้กับวัตถุประสงค์หลายข้อได้
6. ความเป็นข้อเท็จจริง คือ สามารถอ้างอิงถึงข้อเท็จจริงมากกว่าความประทับใจของบุคคล
ตัวบ่งชี้เดียวกันมีความเข้าใจเหมือนกันทั้งผู้สนับสนุนโครงการ ผู้ปฏิบัติโครงการ ผู้ประเมินโครงการ และผู้รับสารสนเทศของโครงการวิจัย

7. ความตรง คือ ตัวบ่งชี้ต่างๆ เมื่อรวมกันแล้วควรเป็นภาพรวมที่สะท้อนถึงผลกระทบของโครงการที่คาดหวังมากกว่าที่จะเป็นผลกระทบของโครงการจากองค์ประกอบภายนอก
8. การอ้างอิงข้อมูลที่มีอยู่ คือ ตัวบ่งชี้ควรรวบรวมมาจากข้อมูลที่มีอยู่แล้วในช่วงระยะเวลาของการดำเนินโครงการ
9. มีความเที่ยง คือ วัดได้คงที่เหมือนเดิมเป็นปรนัย (Objectivity)
10. มีความเป็นกลาง คือ ไม่ลำเอียง หรือชี้นำไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง
11. มีความไว คือ วัดได้หลายระดับ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างได้ละเอียด
12. ใช้ง่าย คือ นำไปวัดหรือเก็บข้อมูลได้จริง โดยวิธีต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกและเมื่อเก็บได้แล้ว ก็แปลความหมายได้ง่าย
จำนวนตัวบ่งชี้ควรเหมาะสมกับขนาดของโครงการ โครงการที่สมบูรณ์ควรมีตัวบ่งชี้ประมาณ 10-20 ตัวบ่งชี้ ความตรง (Validity) ของโครงการที่ดีจะต้องมีตัวบ่งชี้หลายตัว เป็นการยากที่ตัวบ่งชี้เพียงตัวเดียวจะสามารถสรุปภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงได้ ตัวบ่งชี้หลายตัวย่อมจะร่วมกันชี้วัดถึงความสำเร็จของการดำเนินโครงการได้ดีกว่าตัวบ่งชี้เพียงตัวเดียว หรือใช้การนับจำนวนผลผลิตของโครงการตามเป้าหมายเชิงปริมาณที่กำหนดไว้เป็นหลักเท่านั้น

เกณฑ์ของตัวบ่งชี้
ในแต่ละประเด็นการประเมินอาจประกอบด้วยตัวบ่งชี้เพียงตัวเดียวหรือมากกว่าก็ได้ และในบางกรณีตัวบ่งชี้อาจอยู่ในลักษณะของตัวแปร (Variable) ในการวิจัยซึ่งตัวแปรดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่ตัวชี้วัดเป็นลักษณะ (Trait or Attribute) ของโครงการนั้นๆ หากจะตัดสินคุณค่าของโครงการด้วยการระบุตัวแปรเพียงอย่างเดียวจะยังไม่สามารถตัดสินคุณค่าได้ ถ้าไม่มีการกำหนดระดับที่น่าพึงพอใจของค่าการวัดของตัวแปรดังกล่าวเสียก่อน (ทั้งนี้หมายรวมถึงตัวบ่งชี้ปกติทั่วไปด้วย) ดังนั้น ตัวบ่งชี้ในการประเมินในกรณีนี้จะได้จากตัวแปรในประเด็นที่ประเมินโดยมีการกำหนดระดับที่พึงประสงค์ของผลการวัดตามตัวแปรนั้นซึ่งเรียกว่า “เกณฑ์ของตัวบ่งชี้” หรือ “เกณฑ์การประเมิน” (และจุดนี้เองที่เป็นจุดสำคัญที่การประเมินแตกต่างจากการวิจัย เพราะการประเมินมีการกำหนดคุณค่าในขณะที่การวิจัยหาข้อสรุปข้อเท็จจริง โดยปลอดจากการให้คุณค่า (Value-Free) ในสิ่งที่วัด)




เข้าชม : 999


การศึกษานอกระบบ 5 อันดับล่าสุด

      มาเข้าใจ \"การประเมินผล\" กันเถอะ 17 / ม.ค. / 2555
      การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน 15 / ก.ย. / 2554
      การนิเทศแบบมีส่วนร่วม กลุ่ม1 15 / ก.ย. / 2554
      การวางแผนการนิเทศการศึกษา 15 / ก.ย. / 2554
      หัวใจศึกษานิเทศก์ 15 / ก.ย. / 2554


ความคิดเห็นที่ 1
พฤหัสบดี ที่ 15 เดือน กันยายน พ.ศ.2554 เวลา 12:53:54
เป็นบทความที่ดผ็นประโยชน์กับศน.มากๆๆๆค่ะ
โดย : adsuppaa@hotmail.com    ไอพี : 10.0.3.209



ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้ [กด F5 ถ้ารหัสไม่ชัดเจน]
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
ความคิดเห็น :


กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ


ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้งที่ mocyc@hotmail.com เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป