แนวคิดเกี่ยวกับการนิเทศ กศน. แบบมีส่วนร่วม
อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
การนิเทศการศึกษา
การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาครูเพื่อให้ครูปรับปรุงและพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุจุดมุ่งหมายที่วางไว้ การนิเทศการศึกษา จึงเป็นกระบวนการในการแนะนำช่วยเหลือครู ให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการนิเทศนั้นอยู่บนหลักการของประชาธิปไตย คือ หลักของการยอมรับนับถือในความเท่าเทียมกันในความมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์รู้จักเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น มีความเมตตากรุณา อดทน อดกลั้น และมีความซื่อสัตย์ หลักของการใช้ปัญญาในการตัดสินหรือแก้ปัญหา เพื่อเป็นวิถีของการปฏิบัติ หลักการมีส่วนร่วม หลักการแบ่งปัน เป็นการแบ่งปันประโยชน์สำหรับทุกคนและหลักของการประสาน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันและมีความเข้าใจในงานที่เป็นหน้าที่ของตน และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น
การนิเทศการศึกษามีจุดมุ่งหมายสำคัญ 4 ประการ คือ (สงัด อุทรานันท์ : 2530) เพื่อพัฒนาคน เพื่อพัฒนางาน สร้างประสานสัมพันธ์ และสร้างขวัญกำลังใจ
การนิเทศเพื่อพัฒนาคน หมายถึง การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการทำงานร่วมกับครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ครูและบุคลากรได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น
การนิเทศเพื่อพัฒนางาน หมายถึง การนิเทศการศึกษา มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ผู้เรียน ซึ่งเป็นผลผลิตจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเหตุนี้การนิเทศที่จัดขึ้นจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ดีขึ้น
การนิเทศเพื่อสร้างการประสานสัมพันธ์ หมายถึง การนิเทศการศึกษาเป็นการสร้างการประสานสัมพันธ์ระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
การนิเทศเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ หมายถึง การจัดกิจกรรมการนิเทศที่มุ่งให้กำลังใจแก่ผู้รับการนิเทศ ซึ่งถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการนิเทศ เนื่องจากขวัญและกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้รับการนิเทศมีความตั้งใจทำงาน
ประเภทของการนิเทศ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามวัตถุประสงค์ของการนิเทศ ดังนี้
1. การนิเทศเพื่อการแก้ไข (Correction) เป็นการนิเทศที่เกิดจากการพบข้อผิดพลาดและบกพร่อง และต้องการหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
2.การนิเทศเพื่อป้องกัน (Presentive) เป็นการนิเทศที่พยายามหาวิธีการต่างๆ มาดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น
3.การนิเทศเพื่อก่อ (Construction) เป็นการนิเทศที่เกิดจากความพยายามที่จะนำเทคนิควิธีการต่างๆ มาใช้ในการนิเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น
4.การนิเทศเพื่อการสร้างสรรค์ (Creation) เป็นการนิเทศที่พยายามคิดสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ ให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาหรือวงการศึกษา
แนวคิดเกี่ยวกับการนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กศน.
การนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ได้นำแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย จุดมุ่งหมายของการนิเทศและหลักการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมาเป็นแนวทางในการนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ดังนี้
การนิเทศ กศน. หมายถึง กระบวนการทำงานร่วมกันของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกระดับตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนประชาชน ผู้นำหมู่บ้านและอาสาสมัครในพื้นที่ เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพบุคลากรในหน่วยงานสถานศึกษาให้มีขวัญและกำลังใจ รู้จักใช้และวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันทันต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ เพื่อนำมาใช้ในการคิด การแก้ปัญหา และพัฒนางานด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้มีประสิทธิภาพ ตรงตามนโยบาย จุดหมาย แผนงาน หลักการที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ โดยผ่านกระบวนการสื่อสารทั้งสองทาง บนรากฐานของมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี มีแผนงานและความต่อเนื่องและด้วยเจตคติของการพึ่งพาตนเอง
การนิเทศ กศน. หมายถึง กระบวนการทำงานร่วมกับผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่าย เพื่อให้สามารถจัด กศน. ได้อย่างมีคุณภาพ
1. แนวคิดเกี่ยวการนิเทศงาน กศน. ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดต่อไปนี้
1) การนิเทศจะต้องอยู่บนพื้นฐาน ปรัชญา และหลักการของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้นการจัด กศน. ของสำนักงาน กศน. และสถานศึกษา
2) การนิเทศ กศน. ควรเป็นกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ เช่น แผนงานโครงการกิจกรรมและเทคนิคต่างๆ ในการนิเทศ ควรตั้งอยู่บนเจตคติและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผลของการนิเทศจะต้องถูกต้องสมบูรณ์เชื่อถือได้ สามารถสะท้อนคุณภาพการจัด กศน. ของสถานศึกษาได้ตรงตามสภาพจริง
3) การนิเทศ กศน. เป็นกระบวนการทำงานร่วมกับผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่าย ที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพื่อให้เขาได้พัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่เคารพศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นมนุษย์ อดทนต่อความแตกตาง คามหลากหลายให้ความเท่าเทียมกันเสมอภาคกัน ความเป็นอิสระ สร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมและการทำงานเป็นทีม
4) การนิเทศ กศน. ควรเป็นวิชาชีพ การนิเทศจะต้องมีการประเมินผลการนิเทศอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านปัจจัยการนิเทศ กระบวนการนิเทศ และผลที่เกิดจากการนิเทศ และนำผลการประเมินมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงการดำเนินงานนิเทศ เพื่อพัฒนาการนิเทศการศึกษาให้มีคุณภาพ
2. ความสำคัญของการนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
การนิเทศเป็นงานสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการบริหารเพราะการนิเทศเป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร องค์ประกอบของการบริหารย่อมขึ้นอยู่กับคน เงิน วัสดุ และการจัดการ การที่จะบริหารคนให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ผู้บริหารจะต้องมีเทคนิคที่เหมาะสม เทคนิคในการบริหารอย่างหนึ่ง คือ การนิเทศเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ สามารถใช้เงิน วัสดุได้อย่างคุ้มค่า มีหลักการจัดการที่ดี ดังนั้น การที่จะควบคุมการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานที่กำหนดไว้ ผู้บริหารต้องใช้เทคนิคการบริหารงานและการนิเทศควบคู่กัน การนิเทศการศึกษาเป็นความพยายามในการแนะนำ กระตุ้นให้กำลังใจช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ หรือปรับปรุงกระบวนการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการสูญเปล่าทางการศึกษาน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีการจัดกิจกรรมการศึกษาที่หลากหลายให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายประเภทต่างๆ และไม่ได้สังกัด สำนักงาน กศน. ทำให้เห็นความจำเป็นของการนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษาทุกประเภทเข้าใจนโยบายปรัชญาการจัด กศน. ที่สามารถสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่การจัดกิจกรรม กศน.
3. จุดมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
1) เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาบริหารหลักสูตรจัดกระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการศึกษาพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีและการนิเทศภายในอย่างมีคุณภาพ
2) ส่งเสริมให้สถานศึกษามีระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐาน กศน.
3) เพื่อให้คำปรึกษา เสนอแนะและเป็นที่พึ่งในการพัฒนาวิชาการของสถานศึกษาและสำนักงาน กศน. จังหวัด
4) เพื่อประสาน สนับสนุนและเผยแพร่งานทางด้านวิชาการแก่สถานศึกษาและสำนักงาน กศน. จังหวัด
การนิเทศแบบมีส่วนร่วม
งาน กศน. มีขอบข่ายกว้างขวางทั้งด้านกลุ่มเป้าหมาย กิจกรรม กศน. ผู้จัดกิจกรรม กศน. มีทั้ง หน่วยงาน สถานศึกษาและเครือข่าย ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมและส่งเสริมการจัดกิจกรรม กศน. ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย จากความหลากหลายดังกล่าว สืบเนื่องจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี การเมือง การปกครอง และปัญหาต่างๆ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น การจัด กศน. จำเป็นจะต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนและชุมชน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อพัฒนาผู้เรียนและผู้รับบริการให้มีศักยภาพและมีความพร้อม สามารถปรับตัวได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างสงบสุข
การนิเทศ กศน. มีจุดมุ่งหมาย เพื่อพัฒนาคน พัฒนางาน สร้างประสานสัมพันธ์และสร้างขวัญกำลังใจให้กับครู และผู้ปฏิบัติงาน กศน. การนิเทศมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาครูและผู้ปฏิบัติงานให้สามารถจัดกิจกรรม กศน. และส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนและผู้รับบริการอย่างมีคุณภาพ การนิเทศ กศน. ยึดหลักการประชาธิปไตยในการนิเทศ คือการเคารพซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศมีบรรยากาศแห่งความเป็นกัลยาณมิตร คือผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ มีความรับผิดชอบในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกัน เริ่มตั้งแต่ร่วมวางแผนการนิเทศ ร่วมดำเนินการนิเทศ ร่วมประเมินผลการนิเทศและทำผลจากการนิเทศมาร่วมกันปรับปรุง และพัฒนาการจัด กศน. ให้มีคุณภาพ
การนิเทศงาน กศน. จะสำเร็จได้มีผลดีเพียงใดนั้น มีองค์ประกอบหลายประการ เช่น ผู้รับการนิเทศ ผู้นิเทศ รูปแบบการนิเทศ เทคนิคการนิเทศและวิธีการนิเทศในรูปแบบต่าง ๆ ที่นำมาใช้อย่างเหมาะสมกับเนื้อหาสาระและผู้รับการนิเทศ
การนิเทศแบบมีส่วนร่วม เป็นกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการนิเทศ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา การนิเทศแบบมีส่วนร่วมเป็นการทำงานอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเกี่ยวกับหลักการนิเทศ กศน. หลักการเรียนรู้ร่วมกัน หลักการทำงานเป็นทีม หลักการทำงานอย่างเป็นระบบ และหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน
1. องค์ประกอบของการนิเทศแบบมีส่วนร่วม
องค์ประกอบของการนิเทศแบบมีส่วนร่วม ประกอบการ
1.1 ผู้นิเทศ ได้แก่บุคลากรของหน่วยศึกษานิเทศก์ คือศึกษานิเทศก์และบุคลากรของ กศน. จังหวัด / กทม. ได้แก่ ผอ. รองผอ. ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่นิเทศ
1.2 ผู้รับการนิเทศ ได้แก่ พนักงานราชการ ครูอาสาสมัคร กศน. ครู ศรช. เจ้าหน้าที่ห้องสมุด บรรณารักษ์ วิทยากรวิชาชีพของ กศน. อำเภอ และภาคีเครือข่าย
1.3 เนื้อหาสาระที่นิเทศ มีดังนี้
1) การศึกษานอกระบบ
- การจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
- การศึกษาต่อเนื่อง ได้แก่ การศึกษาอาชีพการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต และการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน
2) การศึกษาตามอัธยาศัย ได้แก่ การจัดห้องสมุดประชาชน การจัดแหล่งเรียนรู้และการจัดกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัย
3) การประกันคุณภาพการศึกษา
4) การนิเทศตามนโยบายและจุดเน้นของสำนักงาน กศน.
1.4 รูปแบบของการนิเทศแบบมีส่วนร่วม
มีกระบวนการ 6 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 การเตรียมการนิเทศ
ขั้นที่ 2 รูปแบบและแนวทางการนิเทศ
ขั้นที่ 3 กำหนดเครื่องมือนิเทศ
ขั้นที่ 4 ดำเนินการนิเทศ
ขั้นที่ 5 การประชุม
ขั้นที่ 6 การประเมินผล
2. รูปแบบการนิเทศแบบมีส่วนร่วม
การนิเทศงาน กศน. จะต้องอาศัยรูปแบบการนิเทศที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา ผู้ปฏิบัติงานและกิจกรรม กศน. จึงจะสามารถพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และพัฒนาครู บุคลากร และเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนิเทศและต้องให้รับความร่วมมือของครู และผู้ปฏิบัติงานทุกคนในสถานศึกษา จึงจะทำให้การนิเทศมีประสิทธิภาพ การนิเทศดังกล่าวจึงเป็นลักษณะของการนิเทศแบบมีส่วนร่วม
รูปแบบของการนิเทศแบบมีส่วนร่วมมี 6 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 การเตรียมการนิเทศ
ขั้นที่ 2 รูปแบบและแนวทางการนิเทศ
ขั้นที่ 3 เครื่องมือประกอบการนิเทศ
ขั้นที่ 4 ดำเนินการนิเทศ
ขั้นที่ 5 การประชุม
ขั้นที่ 6 การประเมินผล
ขั้นที่ 1 การเตรียมการนิเทศ
ก่อนที่จะดำเนินการนิเทศต้องชี้แจงนโยบาย แผนงาน โครงการที่จะต้องปฏิบัติ มอบหมายงานในหน้าที่ ภารกิจที่จะต้องดำเนินการ ศึกษาสภาพความพร้อม บรรยากาศ ข้อมูลและอื่น ๆ โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
1.จัดตั้งคณะทำงาน จัดทำนโยบาย แผนงานและโครงการ ทำในรูปของแผนปฏิบัติการประจำปี
2.ชี้แจงให้บุคลากรทราบถึงนโยบาย เป้าหมาย วัตถุประสงค์ วิธีการดำเนินการการติดตามและประเมินผล ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ที่นิเทศและผู้รับการนิเทศ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจเป็นไปในแนวเดียวกัน
3.ผู้รับการนิเทศและผู้นิเทศเตรียมข้อมูล ปัญหาของตนเพื่อร่วมกันวางแผนงานมอบหมายงานพิจารณาผู้รับผิดชอบงานในหน้าที่ โดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติเพื่อแสดงถึงการบริหารงานแบบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นแสดงเหตุผลหรือความจำเป็น
4.นำผลการประชุมเป็นบรรทัดฐานใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง ชัดเจนในการปฏิบัติภารกิจ
5.การจัดการเกี่ยวกับทรัพยากร โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่มีอยู่แล้วค่อยๆ ดำเนินการทีละขั้น เปลี่ยนแปลงและปรับปรุงทีละน้อยแบบค่อยเป็นค่อยไป
6.ตั้งวัตถุประสงค์ในการนิเทศให้ชัดเจน เพื่อบรรลุจุดหมายร่วมกัน
7.ส่งเสริมความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ เพื่อให้ทุกคนได้แสดงออกตามความถนัดและตามความสามารถ อันจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
8.รักษามารยาทในการนิเทศ พูดจาไพเราะ มีมนุษย์สัมพันธ์
ขั้นที่ 2 รูปแบบและแนวทางในการนิเทศ
เมื่อมีโครงการที่จะดำเนินการนิเทศ ในขั้นที่ 1 แล้ว ผู้นิเทศจะต้องดำเนินการนิเทศเพื่อที่จะได้เกิดการพัฒนา 4 ประการ คือ
1.เพื่อการพัฒนาคน
2.เพื่อพัฒนางาน
3.เพื่อสร้างการประสานสัมพันธ์
4.เพื่อขวัญและกำลังใจ (สงัด อุทรานันท์, 2533, 15 – 17)
การนิเทศการศึกษาที่ดี จะต้องมีจุดหมายทั้ง 4 ประการดังกล่าว ดังนั้นผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศจึงต้องมีภารกิจร่วมกัน เพื่อให้การนิเทศเกิดประโยชน์สูงสุด และผู้รับการนิเทศเกิดความพึงพอใจในการนิเทศ ดำเนินการ ดังนี้
1.ซักซ้อมทำความเข้าใจกันระหว่างผู้มีหน้าที่นิเทศและผู้รับการนิเทศ
2.ปฏิบัติการเลือกเครื่องมือการนิเทศตามรูปแบบการนิเทศทั่วไปและกิจกรรมการนิเทศ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจเป็นไปในแนวเดียวกันก่อนที่จะดำเนินการนิเทศ
3.ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศเลือกกำหนด วัน เวลา ในการนิเทศร่วมกัน ทำปฏิทินในการนิเทศให้เป็นระบบอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน
4.การบันทึกข้อมูลทั่วไป ผู้นิเทศมอบแบบบันทึกให้ผู้รับการนิเทศ เป็นผู้บันทึกและเก็บบันทึกนี้ไว้ หากมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงให้บันทึกเพิ่มเติมแนบท้ายทุกครั้ง และทำบันทึกให้เป็นปัจจุบันพร้อมที่ผู้นิเทศจะนำไปประกอบเป็นข้อมูลในการพิจารณาหาทางช่วยเหลือตามแต่กรณี
5.บันทึกข้อมูลเบื้องต้นของผู้รับการนิเทศ ผู้รับการนิเทศเป็นผู้บันทึกรายการของเครื่องมือและเก็บไว้ในแฟ้มปฏิบัติงานของตนเอง เมื่อผู้นิเทศปฏิบัติการนิเทศจะสอบถามข้อมูลเบื้องต้นรับฟังความคิดเห็นและปัญหาต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้บันทึกไว้ทุกครั้ง
6.รวบรวมข้อมูล เช่นข้อมูลทั่วไป ข้อมูลเบื้องต้น ของผู้รับการนิเทศ ผู้รับการนิเทศจะต้องรวบรวมข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการประเมินผลการนิเทศ
ขั้นที่ 3 เครื่องมือประกอบการนิเทศ
เครื่องมือที่ผู้รับการนิเทศและผู้นิเทศมีส่วนร่วมในการเลือกใช้เพื่อการนิเทศในขั้นที่ 2 เป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการส่งเสริมแผยแพร่ความรู้ ผู้นิเทศต้องมีเอกสาร ตำราอย่างเพียงพอ เพื่อให้ผู้รับการนิเทศได้ศึกษาทำความเข้าใจในรูปแบบการนิเทศแบบต่างๆ หรืออาจจะเชิญผู้มีความชำนาญในการนิเทศมาให้ความรู้เป็นเรื่องๆ ไป โดยดำเนินการ ดังนี้
1.ให้ความรู้ แนวทางแก่ผู้รับการนิเทศ ตามรูปแบบการนิเทศทั่วไปและกิจกรรมการนิเทศ เช่น จัดการประชุมทางวิชาการ เป็นการกระตุ้นให้ผู้รับการนิเทศทราบถึงความสำคัญของการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมให้แก่ตนเองและหมู่คณะ
2.มอบหมายงานให้ผู้รับการนิเทศ ได้ศึกษาเอกสารทางวิชาการแล้วสรุปเนื้อหาของเอกสารและรายงานผู้นิเทศ
3.รายงานเอกสารทางวิชาการทุกฉบับเมื่อผ่านผู้นิเทศแล้ว ผู้รับการนิเทศนำไปเผยแพร่ให้แก่เพื่อนร่วมงานทั้งในและนอกสถานศึกษาได้ตามความเหมาะสม และเก็บไว้ในแฟ้มงานของตนเอง เพื่อจะได้นำไปประเมินเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจอีกครั้ง
4.เมื่อมีการปฏิบัติการเผยแพร่วิทยาการและมีผลงานดีเด่น ผู้รับการนิเทศต้องลงบันทึกผลงานของตนเอง เสนอผู้นิเทศทราบเพื่อให้คำเสนอแนะเพิ่มเติมและเก็บไว้ในแฟ้ม เพื่อการประเมินเมื่อเสร็จภารกิจ
ขั้นที่ 4 ดำเนินการนิเทศ
จากการศึกษาเอกสารการนิเทศตามขั้นที่ 3 แล้ว ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศร่วมมือกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้เพื่อให้ทราบปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตรแผนการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การจัดทำ การจัดหา การใช้และการเก็บรักษาสื่อ เพื่อการเรียนรู้ การวัดผลและการประเมินผล โดยคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้รับการนิเทศด้วย โดยดำเนินการ ดังนี้
1.ร่วมกันกำหนดนัดหมายวัน เวลา ที่จะนิเทศ เป็นการล่วงหน้า และผู้รับการนิเทศต้องส่งแผนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้นิเทศได้ศึกษารายละเอียดก่อนการนิเทศ อย่างน้อย 1 วัน
2.ดำเนินการนิเทศตามขั้นตอน ที่ผู้รับการนิเทศได้เลือกรูปแบบการนิเทศ หรือได้เลือกกิจกรรมการนิเทศไว้
3.แบบบันทึกที่ให้ผู้รับการนิเทศจัดทำข้อมูลในขั้นที่ 2 ผู้นิเทศใช้เวลาว่างตรวจสอบความจริง ความถูกต้อง ทุกรายการหากพบว่ารายการใดไม่ถูกต้องขาดความสมบูรณ์ หรือปริมาณการปฏิบัติงานน้อยเกินไป หรือมากเกินไป ผู้นิเทศต้องเสนอแนะปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมตามแต่กรณี โดยมุ่งหวังว่าให้เกิดผลทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ผู้นิเทศบันทึกเพิ่มเติมลงท้ายแบบบันทึกหลังการพบกลุ่ม เพื่อให้ผู้รับการนิเทศหาวิธีการปรับปรุงให้ดีขึ้น
4.ผู้รับการนิเทศ ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงงานให้ดีขึ้นตามผู้นิเทศบันทึกไว้ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เก็บรวบรวมไว้เป็นข้อมูล เพื่อเสนอผู้นิเทศให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมทุกครั้ง
5.ภารกิจทั้งหมดเก็บไว้ในแฟ้มงาน เพื่อการประเมินผลในครั้งสุดท้ายเมื่อสิ้นปีการศึกษา
ขั้นที่ 5 การประชุม
เมื่อนิเทศตามขั้นตอนที่ 4 แล้ว นำจุดเด่น – จุดด้อย มาวิเคราะห์ร่วมกันเป็นการส่งเสริมให้ครูมีความรู้ มีการแก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการดังนี้
1.ดำเนินการประชุม กำหนดให้ดำเนินภารกิจต่อจากการพบกลุ่มครั้งสุดท้าย เป็นการนำเอาปัญหาต่างๆ ที่พบขั้นที่ 4 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มาวิเคราะห์ปัญหา เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย
2.บันทึกการจัดกิจกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนองความต้องการของผู้รับการนิเทศ เช่น ผู้รับการนิเทศต้องการเข้ารับการศึกษาอบรม เมื่อมีการจัดอบรมที่ใดก็ใช้ข้อมูลนี้ส่งให้กับครูที่สมัครใจเข้ารับการอบรม
3.ทำการสำรวจการบันทึกกิจกรรมเกี่ยวกับผู้เรียน เช่น แบบบันทึกการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ กิจกรรมเสริมหลักสูตร กิจกรรมเสริมวินัย กิจกรรมส่งเสริมจริยธรรม การเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการ ฯลฯ ผู้รับการนิเทศต้องตรวจสอบความถูกต้องทุกครั้ง และนำเสนอผู้นิเทศทุกสิ้นเดือนเพื่อรับทราบข้อคิดเห็นเพิ่มเติม
4.แบบบันทึกต่างๆ เก็บไว้ในแฟ้ม รวบรวมส่งเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ วันสุดท้ายของปีการศึกษาหรือปีงบประมาณ
ขั้นที่ 6 การประเมินผล
6.1 การประเมินผลการนิเทศการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
การประเมินผลทางการเรียน การควบคุมดูแล สังเกตพฤติกรรม ตลอดจนการให้คำปรึกษาต่างๆ เป็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยดำเนินการดังนี้
1.การประเมินผล คือ การประเมินผลตามกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ครูประเมินผลผู้เรียนเมื่อปลายภาคเรียนและปลายปีการศึกษา เป็นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ใช้ข้อมูลสำหรับวิเคราะห์และดำเนินการในกระบวนการนิเทศผู้รับการนิเทศจะกรอกข้อมูลลงเก็บในแฟ้มงานภาคเรียนละ 1 ครั้ง โดยคัดลอกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในสมุด กศน.5 แล้วนำเสนอผู้นิเทศได้ทราบและลงความเห็นเพิ่มเติมทุกภาคเรียน
2.การทดสอบสมรรถภาพทางการเรียนของนักศึกษาทุกระดับชั้นแต่ละวิชา ผู้นิเทศต้องดำเนินการสุ่มทดสอบนักศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยใช้วิธีการประเมินผลหลากหลายรูปแบบตามหลักสูตรของระดับนั้นๆ และผู้รับการนิเทศได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้แล้ว ผลการประเมินแจ้งให้ผู้รับการนิเทศทราบเพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลนำไปพัฒนา ปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป
3.การควบคุมดูแล สังเกตพฤติกรรม การให้คำปรึกษาหารือ ทั้งด้านการศึกษา ปัญหาส่วนตัว ปัญหาสุขภาพ ตลอดจนควประพฤติของนักศึกษา เป็นการดำเนินการของผู้รับการนิเทศที่มุ่งประสงค์ให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตร ผู้ดำเนินการบันทึกและลงความเห็นเพิ่มเติมทุกครั้ง
4.การดำเนินการทุกขั้นตอนในภารกิจนี้ ผู้รับการนิเทศรวบรวมผลการปฏิบัติงานไว้ในแฟ้มงานของตนเอง เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาเมื่อสิ้นสุดภารกิจ ในวันสิ้นภาคเรียนต่อไป
6.2 การประเมินการนิเทศการจัดการศึกษาต่อเนื่องและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยการประเมินในเรื่องต่อไปนี้
1. คุณภาพของหลักสูตร/กิจกรรม
2. ประสิทธิผลของการจัดการศึกษา
3. ความพึงพอใจของผู้เรียน/ผู้รับบริการ
4. คุณภาพของการจัดการศึกษา
การที่ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามขั้นตอนทุกขั้น ตั้งแต่ขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 6 โดยเฉพาะการเลือกรูปแบบและแนวทางในการนิเทศ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะพัฒนาไปสู่การนิเทศเพื่อไม่นิเทศ เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน มีความรู้ ความสามารถที่จะจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างถาวร แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นิเทศจะได้รับการต้อนรับอย่างดี ผู้รับการนิเทศจะเกิดการพึงพอใจในการนิเทศ กิจกรรมที่จัดจะเกิดความสอดคล้องทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ราบรื่น นับว่าเป็นการนิเทศที่ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง
3. การดำเนินการนิเทศตามรูปแบบการนิเทศแบบมีส่วนร่วม
การดำเนินการนิเทศตามรูปแบบการนิเทศการมีส่วนร่วม ต้องอาศัยเทคนิควิธีการนิเทศที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม และคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ที่ส่งผลให้การนิเทศประสบความสำเร็จต้องมีความต้องการของแต่ละบุคคลที่มุ่งหวังจะพัฒนาด้านการนิเทศและผู้ที่มีบทบาทในการส่งเสริมรวมทั้งการพัฒนาที่จะให้การนิเทศเกิดขึ้นได้คือ ผู้บริหารหรือผู้นิเทศ นอกจากนี้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาการจัด กศน. และพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษาจะส่งผลให้เกิดการนิเทศการศึกษาและมีการพัฒนา การดำเนินการตามรูปแบบการนิเทศแบบมีส่วนร่วมเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำเสนอกำหนดภารกิจที่สอดคล้องและประสานสัมพันธ์กันในทางปฏิบัติ โดยจัดทำปฏิทินการนิเทศ ดังนี้
1. กำหนดภารกิจที่จะทำการนิเทศ
2. กำหนดเวลาที่ทำการนิเทศ (วัน เดือน ปี)
3. กำหนดเวลาที่ทำการนิเทศ (เวลา)
4. กำหนดชื่อผู้นิเทศ
5. กำหนดชื่อผู้รับการนิเทศ
4. ตัวชี้วัดการนิเทศแบบมีส่วนร่วม
1. คุณภาพของการจัดการศึกษา
2. การบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการนิเทศ
3. การมีส่วนร่วมของผู้รับการนิเทศ
4. ความพึงพอใจของผู้รับการนิเทศ
อ้างอิงบทความนี้
อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
http://panchalee.wordpress.com/2010/01/15/participatory_supervision
******************
เข้าชม : 1710
|