เซ็กซ์ และ ความพิการ มหัศจรรย์แห่ง หัวใจ
ลองถามหัวใจตรงๆ ว่า เมื่อสองตาของเรามองไปเห็นคนพิการที่ พบเห็นตามท้องถนน ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นสงสาร บางคนคิดอยากช่วยเหลือ ทว่า ความรู้สึกนี้คงจะเลือนหายไปในเวลาไม่นาน เพราะถ้าไม่ใช่ผู้ที่สนใจหรือทำงานด้านการช่วยเหลือคนพิการอย่างจริงจัง ความสนใจในคงพิการก็คงจะไม่ลึกถึงขั้นคิดตามหรือไตร่ตรองยิ่งถ้าเป็นประเด็น มิดเม้น อย่างเรื่อง เพศ ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากจะพูดเข้าไปใหญ่
จริงๆ แล้วเรื่องเพศ ไม่ใช่แค่เรื่องปฏิบัติการทางเพศหรือเรื่องของอวัยวะเพศ แต่มันเป็นเรื่องของคุณค่าและความหมาย ซึ่งมีประเด็นให้เราหารือมากมาย ดร.เพ็ญจันทร์ ประดับมุข เชอร์เรอร์ จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศวิถีคนพิการ เปิดประเด็นอย่างน่าฟังในงานเสวนาที่จัดขึ้นในนิทรรศการภาพถ่าย หญิงพิการ:แรงบันดาลใจ ความงามและคุณค่า กิจกรรมดีๆ ที่เกิดขึ้นโดยน้ำมือและน้ำใจของทั้งคนพิการและคนไม่พิการที่นานๆจะมีสักครั้ง สังคม ส่วนใหญ่มองผู้พิการเป็นผู้ด้อยความสามารถและ โดยตรรกะนี้นำไปสู่ความคิดที่ว่าการ ไม่น่าจะมีความสามารถมีความสุขในเรื่องทางเพศได้ แต่เราต้องไม่ลืมอย่างยิ่งคือเขาคือมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีสิทธิเต็มที่ที่จะมีความสุขในเรื่องนี้ในวงจำกัดของเนื้อตัวร่างกายเขา เราต้องเคารพสิทธิของเขา ดร.เพ็ญจันทร์ให้ภาพ
คนพิการจำนวนมากถูกมองข้ามความเป็นเพศ ซึ่งนั่นทำให้เขาเหล่านั้นถูกละเลยการให้ความรู้ในเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ หรือแม้กระทั่งเรื่องสุขอนามัยส่วนตัวในเรื่องเพศ เป็นหลุมดำช่องว่างที่เกิดขึ้นขนาดคนธรรมดายังเข้าใจแบบผิดๆ กันเยอะ นี่เป็นผู้พิการที่ถูกปิดและไม่ได้รับโอกาสให้เรียนรู้ แล้วเขาจะเข้าใจและดูแลตัวเองได้อย่างไร ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศวิถีคนพิการจาก ม.มหิดล กล่าว ในขณะที่เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักสู้วิลแชร์ สาวเก่งที่ทำงานเพื่อสิทธิผู้พิการ หัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ย้ำในประเด็นนี้ว่า มีผู้พิการจำนวนไม่น้อยที่ไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพราะขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศ และไม่รู้สิทธิด้านเพศวิถีของตัวเอง คนพิการมีอุปสรรคมาก อย่างแรกเลย คือ ทางกายภาพ สังคมมองว่า พวกเราเป็นคนพิการ เป็นคนชำรุด เรื่องเพศก็น่าจะชำรุดไปด้วย พ่อแม่ที่มีลูกพิการไม่น้อยคิดว่าลูกของตัวเองเป็นเด็กพิการ แต่ไม่เคยคิดว่าเป็นลูกชายพิการหรือลูกสาวพิการ ประเด็นทางเพศมันหายไป บ้านเรายังมีกรณีการกระทำรุนแรงต่อคนพิการหลายกรณี โดยเฉพาะกรณีเรื่องเพศ เพราะหลายครั้งหลายคนไม่มองว่าคนพิการเป็นคน แต่เป็นอะไรก็ไม่รู้ที่จะกระทำอะไรก็ได้ เช่นในกรณีพี่ชายข่มขืนน้องพิการและพาเพื่อนมาร่วมข่มขืน หรืออีกกรณีที่น่าเศร้ามากคือ น้องพิการอยู่กับพี่สาวมาตั้งแต่เด็ก พอพี่สาวแต่งงานก็ยังอยู่กับพี่สาวและพี่เขย พี่เขยไปติดเอดส์จากนอกบ้าน ไม่กล้าหลับนอนกับภรรยาเพราะสงสารเกรงจะติดเอดส์ จึงมาลงกับน้องภรรยาที่พิการ จนหญิงพิการคนนั้นติดเอดส์ เธอบอกพี่สาวๆ ก็ไม่เชื่อ สุดท้ายก็เสียชีวิตไป นี่คือความรุนแรงทางเพศที่คนพิการได้รับ เสาวลักษณ์ ให้ข้อมูล แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ยังมีผู้พิการบางส่วนที่โชคดีและสามารถใช้ชีวิตคู่กับคนธรรมดาได้อย่างมี ความสุขและสร้างครอบครัวที่อบอวลไปด้วยไอความรักและความเข้าใจ ที่บางคู่ เสาเรือน อาจเข้มแข็งกว่าคู่สมรสของสามี-ภรรยาที่อวัยวะครบ๓๒เสียด้วยซ้ำ!
ไพรวัลย์ แสงสุนทร ชายผู้มองความรักของเขา ก้าวข้ามโลกแห่งความเงียบสงัดของภรรยา พัชราวัลย์ หญิงสาวผู้ไร้ความสามารถทางการได้ยิน อดีตนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่องดัง ผู้ชายชื่อต้น ผู้หญิงชื่อนุช เล่าให้ฟังว่า ชีวิตคู่ของพวกเขาเป็นเหมือนพรหมลิขิตหรือบุพเพสันนิวาสชักพา เพราะเพียงเห็นหน้าครั้งแรกเขาก็รู้สึกว่าเขาต้องแต่งงานกับผู้หญิงคนนี้ เจอ กันครั้งแรกตอนเข้าค่ายคนหูหนวกนานาชาติ ผมเป็นล่ามคนหูหนวก ส่วนเขามาเข้าค่าย ก็สะดุดตา พอค่ายจบทราบว่าเขาเรียนด้านทำการฝีมือที่เปิดสอนอยู่ที่สวนดุสิต ผมเองก็เรียนอยู่ที่นี่ ทีนี้ก็จีบ เขาก็พยายามสื่อสารกับเราให้รู้เรื่อง แต่เราเรียนด้านการสอนคนพิการอยู่แล้วเลยมีภาษีมากกว่าหนุ่มอื่นเพราะเราคุยภาษามือได้ คุณพ่อลูก ๒ รายนี้ย้อนเหตุการณ์สมัยแรกจีบ ว่า ตลอดระยะเวลาเป็นปีที่ตามจีบสาวผู้อยู่ในโลกเงียบผู้กลายมาเป็นแม่ของลูกใน กาลถัดมานั้น เขาตามรับตามส่งทุกวันไม่ขาดเลยแม้แต่วันเดียว โดยเดินทางจากบ้านที่ดอนเมือง ไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต รอจนฝ่ายหญิงเลิกเรียนแล้วพาไปส่งที่บ้านของเธอที่บางกะปิ แล้วจึงจะกลับบ้านตัวเองที่ดอนเมือง คุณ พ่อของคุณพัชราวัลย์มีลูก ๔ คน เป็นผู้หญิงเสีย ๓ หูหนวกทั้งหมด ผมไปสู่ขอ ๔ ครั้ง ใช้เถ้าแก่ถึง ๔ คน ๓ ครั้งแรกคุณพ่อไม่ยอมยกให้ เพราะท่านกลัวเราไปหลอกลูกสาวท่าน กลัวว่าเราจะทิ้งเพราะลูกสาวท่านพิการแต่ผมก็ยังตื๊อเพราะรู้สึกว่าต้องเป็นคนนี้เท่านั้นสุดท้ายท่านก็ใจอ่อน
ส่วนเรื่องของชีวิตสมรสส่วนตัวนั้น ไพรวัลย์เปิดอกว่าเขามีความสุขดีและยังคงมีความสุขอยู่ ไม่ต่างจากคู่สามีภรรยาทั่วไปจริงไม่จริงดูได้ที่พยานรักถึง ๒ คนของครอบครัวแสงสุนทร ผมไม่ได้มองเธอว่าเธอพิการ สำหรับผมเธอเป็นคนคนหนึ่ง เป็นภรรยา เป็นแม่ของลูก มันเป็นปกติที่มีทะเลาะกันบ้าง แต่ถ้าถามผมว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ผมจะแต่งงานกับเธอหรือไม่ แม้เธอจะไม่ได้ยิน ผมก็ยังต้องตอบดังๆ อยู่ดีว่า ผมจะแต่งงานกับผู้หญิงคนนี้คนเดียว ชายหนุ่มทิ้งท้ายอย่างหนักแน่น เช่นเดียวกับนักธุรกิจระดับร้อยล้านอย่าง จิณฑาทิพย์ ศิลโสภิต หญิงแกร่งให้วงการการ์เมนต์ผู้ป่วยเป็นโปลิโอ แต่คนที่จำเป็นต้องอาศัยไม้ค้ำยันอย่างเธอ ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา เธอมีครอบครัวที่น่ารัก สามีที่เอาการเอางานและร่วมหัวจมท้ายบุกเบิกธุรกิจจากเล็กจนใหญ่โต และลูก ๒ คนที่รายหนึ่งเรียนจุฬาฯ และอีกรายไปเรียนต่อที่ต่างประเทศด้วยหยาดเหงื่อแรงกายและสติปัญญาของพ่อและแม่
ชีวิต ครอบครัวมีความสุขมาก สามีพูดเสมอว่า เวลามองเราไม่เคยเห็นภาพคนพิการ เห็นแต่ภาพผู้หญิงทำงาน เวิร์กกิ้งวูเม่น ตอนนั้นสมัยก่อนแต่งงานเรามีผู้ชายมาจีบเยอะ แต่เลือกสามีเพราะเป็นผู้ชายไม่เอาใจแต่เป็นผู้ชายที่พูดถึงแต่ครอบครัวพูด แต่เรื่องงานจนวันนี้เรารู้ว่าเราเลือกไม่ผิด เวิร์กกิ้งวูเม่นวัย ๖๐ กะรัต ผู้เปิดเผยต่อสังคมว่าเธอจะไม่ยอมแพ้สังขาร ไม่ว่าจะด้วยวัยและกายภาพ ด้วยการแต่งตัวสวยทุกครั้งที่ออกจากบ้านและดำเนินชีวิตแบบสุดแฮปปี้ทั้งใน บ้านและนอกบ้าน ฝาก ข้อความถึงผู้พิการทั้งหลายว่า อย่าสงสารตัวเอง แต่ควรรักตัวเองให้มาก แล้วคิดว่าทำอย่างไรชีวิตจึงจะดี และเมื่อคิดแล้วจงทำ อย่าท้อแท้กับข้อจำกัดทางกายภาพ เพราะชีวิตของเธอ คือ ๑ ในตัวอย่างของผู้พิการที่มานะบากบั่นจนประสบความสำเร็จและมีความสุข(ASTVผู้จัดการออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย๒๔มิ.ย.๒๕๕๓)
เอกสารเพิ่มเติม