ผู้ด้อยโอกาส หมายถึง เด็กและเยาวชนที่มีปัญหา และอุปสรรคต่อการได้รับบริการทางการศึกษา ที่เกิดจากความเสียเปรียบเนื่องจากความแตกต่างในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรืออื่นๆ เช่น เด็กยากจน เด็กเร่ร่อน เด็กในพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาร เด็กต่างวัฒนธรรมหรือ ชนกลุ่มน้อย เด็กขาดที่พึ่งพิงหรือบุคคลดูแล เด็กที่ถูกกักขังอยู่ในสถานสงเคราะห์ สถานพินิจ และอื่นๆ
ผู้พิการ หมายถึง เด็กและเยาวชน ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้
ผู้มีความสามารถพิเศษ หมายถึง เด็กและเยาวชนที่แสดงออกซึ่งมีความสามารถ อันโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน ทั้งในด้านสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ การใช้ภาษา การเป็นผู้นำ การสร้างงานทัศนศิลป์และศิลปการแสดง ความสามารถด้านดนตรี ความสามารถทางกีฬา และความสามารถทางวิชาการในสาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขาอย่างเป็นที่ประจักษ์เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กอื่นที่มีอายุระดับเดียวกัน สภาพแวดล้อมหรือประสบการณ์เดียวกัน
ในอดีตที่ผ่านมา การจัดการศึกษาของรัฐยังไม่สามารถให้บริการแก่กลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษได้อย่างกว้างขวางทั่วถึง และรูปแบบวิธีการให้บริการยังไม่สามารถตอบสนองลักษณะเฉพาะกลุ่มของเด็กเหล่านี้ได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จึงได้กำหนดสิทธิในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้ไม่น้อยกว่าสิบสองปีอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายของกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษว่า ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ สำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษนั้น ต้องจัดการศึกษาให้ด้วยรูปแบบที่เหมาะสม โดยจะต้องคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น
การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ มีอยู่ 2 ประเภท คือ จัดในสถานศึกษาเฉพาะทางที่รับเฉพาะเด็กกลุ่มนี้เข้าเรียน และจัดการเรียนร่วมในสถานศึกษาทั่วไป กรณีที่เด็กและสถานศึกษามีความพร้อมในระดับที่เหมาะสม ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประสบการณ์จากทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ดีที่สุด โดยการเรียนร่วมอยู่ในโรงเรียนทั่วไป แต่ทั้งนี้จะต้องอาศัยความพยายามร่วมกันทั้งฝ่ายโรงเรียน ซึ่งได้แก่ ครู เจ้าหน้าที่ เพื่อน ฝ่ายครอบครัว และอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ รวมถึงแพทย์ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ และอื่นๆ ที่ต้องร่วมมือกันอย่างเป็นสหวิทยาการ
การจัดการศึกษาพิเศษ
การจัดการศึกษาพิเศษ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการบกพร่องทางด้านร่างกาย สติปัญญาหรือจิตใจ และเด็กด้อยโอกาส กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการเพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถมีอาชีพช่วยเหลือตนเอง ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม โดยเปิดโอกาสให้องค์กรเอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ซึ่งจำแนกออกเป็นการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการ การจัดการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส และการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ มีผลการดำเนินงานตามลำดับ คือ
การจัดการศึกษาเพื่อคนพิการหรือบกพร่อง 9 ประเภท ได้แก่ บกพร่องด้านการเห็น การได้ยิน ทางสติปัญญา ทางร่างกายหรือสุขภาพ บุคคลที่มีปัญหาการเรียนรู้ มีความบกพร่องทางการพูด มีปัญหาทางพฤติกรรม บุคคลออทิสติก และบุคคลพิการซ้ำซ้อน มีผลการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการ ในปีการศึกษา 2544 ได้แก่ การเห็น 15,044 คน การได้ยิน 16,694 คน สติปัญญา 29,263 คน ร่างกาย / สุขภาพ 24,326 คน การเรียนรู้ 46,674 คน การพูด 9,323 คน ออทิสติก 2,868 คน พฤติกรรม 7,811 คน พิการซ้ำซ้อน 9,133 คน อื่นๆ 6,296 คน รวมทั้งสิ้น 167,432 คน
กระทรวงศึกษาธิการได้จัดการศึกษาเพื่อคนพิการ เป็น 3 ลักษณะ คือ
1. การจัดการศึกษาเพื่อคนพิการเฉพาะทาง จัดได้ 13,882 คน โดย
ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในโรงเรียนศึกษาพิเศษ จำนวน 42 โรงเรียน จำแนกเป็นศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลางและเขตการศึกษา 1 – 12 รวม 13 ศูนย์ ให้ได้รับทุนอุดหนุนค่าพาหนะ ค่าอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) ได้ให้การดูแลนักเรียน จำนวน 12,185 คน
จัดทำคู่มือในการเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจ จำนวน 5 เล่ม ให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ
ออกประกาศกระทรวงจัดตั้งศูนย์การศึกษาจังหวัดครบทุกจังหวัด สำหรับนักเรียนพิการสนับสนุนโรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาพิเศษ จำนวน 12 โรงเรียน ในรูปของ เงินอุดหนุนรายหัว ครู ค่าซ่อมแซมและสิ่งก่อสร้าง โดยมีนักเรียนในความดูแล จำนวน 1,697 คน
นอกจากนี้ สถาบันราชภัฏ 6 แห่ง ได้เปิดสอนโปรแกรมการศึกษาพิเศษในระดับปริญญาตรี และเปิดสอนระดับปริญญาโท ในสถาบันราชภัฏสวนดุสิต คาดว่าจะผลิตบัณฑิตได้ปีละ 120 และ 30 คน ตามลำดับ นอกจากนี้ยังเปิดให้บริการแก่เด็กพิการและครอบครัว (อายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 7 ปี) ตลอดจนให้บริการวิชาการแก่ศูนย์การศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน
2. การจัดการศึกษาเพื่อคนพิการแบบเรียนร่วม จัดได้ 130,960 คน
กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษครอบคลุมทุกจังหวัด โดย เด็กพิการจะได้รับการเตรียม ความพร้อมก่อนส่งไปเรียนร่วมกับเด็กปกติเพิ่มมากขึ้น ตลอดทั้งสนับสนุนวิชาการศึกษาพิเศษในรูปของการสัมมนาทางวิชาการ จัดประชุมสัมมนาผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน ในเรื่องการจัดการศึกษาพิเศษเรียนร่วมอีกด้วย
3. การจัดการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับคนพิการ จัดได้ 22,633 คน
เป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้คนพิการที่อยู่นอกระบบโรงเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษา ทั้งสายสามัญ สายอาชีพ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพความพิการ มีการจัดการเรียนการสอนใน 3 ลักษณะ คือ การเรียนเป็นรายบุคคล การเรียนร่วมกับคนปกติ และการเรียนเป็นรายกลุ่มเฉพาะคนพิการ ส่งเสริมสนับสนุนด้านหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน การวัดผลประเมินผล การฝึกอบรมครูและผู้ปกครอง เป็นต้น
นอกจากนี้ได้ศึกษาทดสอบและพัฒนาสื่อ รวมทั้งจัดทำคู่มือสำหรับสถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสร้างเครื่องมือประเมินผลหลักสูตรการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จ รวม 3 หลักสูตร ได้แก่ การใช้ภาษามือแบบเบ็ดเสร็จ หลักสูตรอักษรเบรลล์และหลักสูตรสำหรับบุคคลออทิสติก และจัดทำข้อสอบเพื่อวัดผลการเรียนสำหรับผู้พิการทางการมองเห็นทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
รวบรวมโดย/นำเสนอโดย นายอมร ทองตุ่ม
เข้าชม : 138
|