กศน.นครราชสีมา การศึกษา
พฤหัสบดี ที่ 24 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2553
|
|
การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยครอบครัวชุมชนและองค์กรเอกชน
กรอบแนวคิด
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 รับรองสิทธิการทางการศึกษาของคนไทยทุกคน โดยการจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้หรือมีร่างกายพิการหรือทุพพลพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ
การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ตามวรรคสอง ให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง(มาตรา 10)
นอกจากนั้นได้กำหนดหลักการให้ บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรเอกชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง มีสิทธิในจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง(มาตรา 12) โดยกำหนดให้จัดในลักษณะศูนย์การเรียน รวมทั้งการได้รับสนับสนุนจากรัฐในวิธีการต่างๆ ตามความเหมาะสมและความจำเป็น (มาตรา 18(3) มาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 60 และมาตรา61)
ครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆแก่คนพิการ ตั้งแต่การช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม การเตรียมความพร้อมการฝึกและส่งเสริมสมรรถภาพด้านต่างๆ การจัดให้ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นอย่างเหมาะสม การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ รวมทั้งการสร้างโอกาสและพิทักษ์ปกป้องสิทธิต่างๆของคนพิการในความดูแล
ชุมชน องค์กรเอกชน ซึ่งได้แก่ กลุ่มบุคคล ชมรม สมาคม มูลนิธิ ที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดบริการด้านการศึกษาและฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการมาเป็นเวลานาน และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยมีรูปแบบ ระบบ แนวทางการจัดที่หลากหลายแตกต่างกันตามลักษณะองค์กร โดยมีกลุ่มเป้าหมายตามประเภทความพิการ
รัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องสนับสนุน ส่งเสริม และสร้างสรรค์ โดยเติมพลังด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ ครอบครัวและชุมชนเกิดความเข้มแข็งในอันที่จะจัดกิจกรรมต่างๆให้กับคนพิการในความดูแล
สภาพปัจจุบัน
แนวคิด การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยครอบครัว ชุมชน มีการปฏิบัติในประเทศไทยมานานพอสมควร แต่ส่วนใหญ่จะเน้นเฉพาะการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ และการเตรียมความพร้อมพื้นฐาน ในรูปแบบที่เรียกว่า รูปแบบทางการแพทย์ ( Medical Model ) วิธีการทำงานจะเป็นในการปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเป็นส่วนใหญ่ (Expert Model)
ในด้านการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.2542 เน้นแนวคิดการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการร่วมจัดการศึกษา โดยเปิดโอกาสให้ สามารถเป็นผู้จัดการศึกษาได้
สำหรับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการก็เช่นกัน ครอบครัว ชุมชน และสังคม มีบทบาทในการทำงานแบบมีส่วนร่วม ทั้งลักษณะผู้ส่งเสริมการเรียนรู้และฟื้นฟูสมรรถภาพ และลักษณะผู้จัดการศึกษา โดยการมีส่วนร่วมในเชิงการบริหาร การจัดการศึกษา การร่วมกิจกรรมต่างๆ (Partnership Model)
สาระในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว มีหลายมาตรา อาทิ
- มาตรา 8(2) การจัดการศึกษาให้ยึดหลัก สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
- มาตรา 9 (6) การจัดระบบ โครงสร้าง และกระบวนการจัดการศึกษา ให้ยึดหลัก การมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น
- มาตรา 12 นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- มาตรา 29 ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษา มีการแสวงหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และรู้จักเลือกสรรภูมิปัญญาและวิทยาการต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ รวมทั้งหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาระหว่างชุมชน
วิธีการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการโดยครอบครัว มีหลายรูปแบบ เช่น
1. การจัดในลักษณะครอบครัวฝึกและเตรียมความพร้อมเด็กพิการตามคำแนะนำที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญ
2. การจัดสอนลูกพิการ ด้วยตนเอง และนำเด็กไปทดสอบความรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน กรมการศึกษานอกโรงเรียน
3. การตั้งกลุ่มการเรียน และลงทะเบียนกลุ่มการเรียนกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน
4. การรวมกลุ่มครอบครัว โดยจัดกิจกรรมต่างๆร่วมกัน
ในด้านชุมชน หรือองค์กรเอกชนที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการ มีทั้งชมรม สมาคม และมูลนิธิ ซึ่ง มีจำนวนไม่มากนักที่จัดบริการการศึกษาอย่างเป็นกิจลักษณะ การกระจายบริการเชิงภูมิศาสตร์ ไม่ทั่วถึง และจัดเฉพาะบางประเภทความพิการ ซึ่งไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
การจัดการศึกษาขององค์กร จะจัดในลักษณะการเตรียมความพร้อมเด็กพิการ หรือ การจัดการเรียนการสอนในระบบโรงเรียน การจัดสอนด้านอาชีพทั้งหลักสูตรระยะสั้น ระยะยาว
รูปแบบการจัดการ อาจจัดในลักษณะโรงเรียนเอกชน หรือลักษณะศูนย์การเรียน โดยงบประมาณจากการบริจาคของผู้ปกครองหรือประชาชนทั่วไป
วิธีการการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการโดยชุมชน และองค์กรเอกชน มีหลายรูปแบบ เช่น
1. ชมรม สมาคม มูลนิธิ จัดบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มแก่เด็กพิการและครอบครัว รวมถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยอาจจัดเต็มวันหรือบางช่วงเวลา
2. ชมรม สมาคม มูลนิธิ จัดศูนย์เด็กเล็ก เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กพิการ
3. ชมรม สมาคม มูลนิธิ จัดในการเรียนการสอนในลักษณะชั้นเรียน ศูนย์การเรียน หรือโรงเรียน
4. ชมรม สมาคม มูลนิธิ จัดในลักษณะศูนย์เตรียมความพร้อมด้านอาชีพ
5. กรมการศึกษานอกโรงเรียน จัดกลุ่มการเรียนและส่งครูอาสาเข้าไปสอน เน้นการเรียนรู้ตามหลักสูตรระดับต่างๆ(ภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนดำเนินการ หรืออาจดำเนินการในพื้นที่ที่มีความพร้อม)
แนวโน้มอนาคต
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มาตรา 18(3) การจัดการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดได้ 3 ลักษณะ ตามมาตรา 18 พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ได้แก่
(1) สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
(2) โรงเรียน
(3)ศูนย์การเรียน
ศูนย์การเรียน ได้แก่ สถานที่เรียนที่หน่วยงานจัดการศึกษานอกโรงเรียน บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถานสงเคราะห์และสถาบันสังคมอื่นเป็นผู้จัด
เมื่อพิจารณา มาตรา 12 ประกอบมาตรา 18(3) บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถานสงเคราะห์และสถาบันสังคม สามารถจัดการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในลักษณะ ศูนย์การเรียน ได้
การจัดการศึกษาในลักษณะศูนย์การเรียนสำหรับกลุ่มคนพิการโดยจัดในลักษณะศูนย์การเรียนครอบครัวหรือบ้านเรียน(Home School) หรือลักษณะศูนย์การเรียนชุมชน นับเป็นแนวคิดที่น่าพิจารณา
จาก รายงานการวิจัย “การจัดการศึกษาโดยครอบครัว” โดย กลุ่มงานปฏิรูปการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เมื่อมกราคม 2543 ได้ข้อสรุปดังนี้
1. การจัด “โรงเรียนในบ้าน” หรือ “Home School” เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีแบบแผน สำหรับเด็กที่เป็นสมาชิกในครอบครัว โดยกิจกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน และมีพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ทำหน้าที่เป็นครูหรือผู้กำกับกิจกรรม”
2. ปัจจัยที่ทำให้เกิด “Home School” ได้แก่ ปัญหาความไม่เหมาะสมของการศึกษาที่รัฐจัดให้ หรือปรัชญาความเชื่อทางการศึกษาส่วนบุคคลของพ่อแม่ หรือ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีทางการศึกษา ซึ่งทำให้ผู้เรียนกำกับวิถีทางการเรียนรู้ของตนเอง ผ่านสื่ออิเลคโทนิคส์และมัลติมีเดีย
3. มีงานวิจัย บ่งชี้ว่า เด็กที่เรียน “Home School” มีผลสัมฤทธิทางการเรียนดีกว่าเด็กทั่วไป และมีทักษะทางสังคมไม่ต่างจากเด็กทั่วไป และพบว่า คุณวุฒิหรือความรู้ทางวิชาครูของพ่อแม่ที่ทำการสอนไม่มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ดังกล่าว
4. ข้อกำหนดด้านกฎหมายของประเทศต่างๆ ในส่วน “Home School” มีประเด็น 5 ประเด็น
1. สถานภาพและแนวการจดทะเบียน
2. คุณสมบัติของพ่อแม่
3. เนื้อหาสาระของหลักสูตร
4. การติดตามตรวจสอบและนิเทศการสอน
5. การสอบวัดมาตรฐานความรู้และการเทียบโอน
5. ด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน “Home School” มีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับ ความเชื่อและแรงจูงใจของพ่อแม่แต่ละครอบครัวที่เข้ามาจัด มีทั้งแนวหลักสูตรที่คล้ายคลึงกับที่โรงเรียนจัดให้ หรือ หลักสูตร”สัมผัสชีวิต” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ด้านการเรียนการสอน มีหลายแนว เช่น การสอนแบบมีตารางสอนและแผนการสอนที่ชัดเจน จนถึงการสอนแบบไม่มีโครงสร้างชัดเจน การวัดผล เน้นการวัดผลทางเลือก เช่น การใช้แฟ้มสะสมงาน การประเมินโครงงานหรือกิจกรรม การจดบันทึกของพ่อแม่
6. การจัด“Home School” มีการสร้างเครือข่ายพ่อแม่ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ จึงทำเป็น องค์กรประสานงานระดับชาติหรือท้องถิ่น ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านต่างๆ
7.องค์กรรัฐ ทำหน้าที่ กำกับ สนับสนุน ตรวจสอบ โดยมีการสนับสนุนทั้งวิชาการและทรัพยากร
8.ข้อเสนอจากการวิจัย
ประเด็น แนวทาง
การจดทะเบียน โรงเรียนพี่เลี้ยง /โรงเรียนแม่ข่าย
การสนับสนุนจากรัฐ คูปองการศึกษา
คุณสมบัติพ่อแม่ วุฒิขั้นต่ำ/การเยี่ยมบ้าน
ระบบนิเทศ ติดตาม ครูพี่เลี้ยง
ระบบการทดสอบความรู้ กำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลา
กลไกสนับสนุนอื่นๆ การทำเอกสารคู่มือ สื่อ ตำรา
ประเด็นนำเสนอ
1. ปรัชญาการจัดการศึกษาโดยครอบครัวและชุมชนสำหรับคนพิการ ในรูปแบบศูนย์การเรียน เน้นการสร้างทางเลือกทางการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องจำเป็นของแต่ละบุคคล เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆที่เป็นข้อบกพร่อง ความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลให้เหมาะสมแก่วัยและศักยภาพ
2. ผู้เรียนในศูนย์การเรียน มีสิทธิเทียบเท่ากับผู้เรียนระบบการเรียนอื่น รัฐ โดยกระทรวงศึกษาธิการพึงให้การสนับสนุน โดยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาแก่ผู้เรียนเป็นรายบุคคล
3. ขนาดของกลุ่มการเรียน ต้องมีขนาดเหมาะสม ไม่มีจำนวนผู้เรียนมากจนเกินไป เนื่องจากผู้เรียนมีความหลากหลายแตกต่างกัน
4. หลักสูตรการศึกษาของศูนย์การเรียนสำหรับคนพิการ ต้องยืดหยุ่น หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของแต่ละบุคคล จัดในลักษณะการศึกษา การพัฒนาศักยภาพ และการฟื้นฟูสมรรถภาพควบคู่กันไป
5. จัดองค์กรหรือเครือข่ายการประสานงาน การช่วยเหลือสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม โดยอาจมอบหมายให้ศูนย์การศึกษาพิเศษเพื่อคนพิการจังหวัด กำกับ ดูแล ประสานงานและจัดการสนับสนุน
6. จัดระบบการช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์การเรียนสำหรับคนพิการโดยครอบครัวและชุมชน
แนวทางการสนับสนุนจากภาครัฐ
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางการสนับสนุน การจัดการศึกษาโดยครอบครัว ชุมชน องค์กรเอกชน ไว้หลายประการ ในมาตรา 13 14 60 โดยสรุปสาระได้ดังนี้
1. การสนับสนุนให้มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูบุตรหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแลหรือรับผิดชอบ(มาตรา13(1) 14(1))
2. เงินอุดหนุนจากรัฐสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของบุตรหรือบุคคลที่อยู่ในความดูแลที่ครอบครัวจัดให้หรือในความดูแลรับผิดชอบ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด (มาตรา13(2) 14(2))
3. การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายการศึกษา ตามที่กฎหมายกำหนด (มาตรา13(3) 14(3))
4. การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเป็นค่าใช้จ่ายรายบุคคลที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดโดยรัฐและเอกชนให้เท่าเทียมกัน (มาตรา 60(1))
5. การจัดสรรทุนการศึกษาในรูปของกองทุนกู้ยืม (มาตรา 60(2))
6. การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษาอื่นให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของกลุ่ม มาตรา 10 วรรค 2 (มาตรา 60(3))
7. การจัดสรรเงินอุดหนุนการศึกษาที่จัดโดยบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ สถานสงเคราะห์และสถาบันสังคมอื่นตามความเหมาะสมและความจำเป็น(มาตรา 61)
บทสรุป
บทความนี้ มุ่งหวังเพียงการจุดประกายความคิดในประเด็น การมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชนและองค์กรเอกชน ในการจัดการศึกษาแก่คนพิการ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระภาครัฐที่ไม่อาจกระจายบริการได้อย่างทั่งถึง และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ และการนำเสนอบทบาทของครอบครัวในการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนจาก ผู้รับบริการเพียงทางเลือกเดียว มาเป็น ผู้ร่วมจัดบริการ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนพิการในความดูแล หากได้รับการเสริมแรงอย่างเต็มที่จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยเทคนิคกระบวนการที่เหมาะสมและตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นคนพิการแต่ละบุคคล
ผู้เขียนมีความเชื่อว่า กลไกประการหนึ่งซึ่งจะสนับสนุนให้ครอบครัว ชุมชน องค์กรเอกชนมีความเข้มแข็ง คือ กฎกระทรวงศึกษาธิการ ตามบทบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งควรจะริเริ่มและจัดทำให้เป็นรูปธรรมและบังคับใช้โดยเร็ว
ในระหว่างที่ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวง ควรจะมีการศึกษาทดลอง นวัตกรรม รูปแบบ แนวคิดและวิธีการในจัดการศึกษาสำหรับครอบครัวชุมชนของคนพิการในลักษณะต่างๆ ด้วยการสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายต่างๆในการดำเนินการ เพื่อการขยายผลต่อไป
เข้าชม : 138
|
|
กศน.นครราชสีมา 5 อันดับล่าสุด
กศน.อำเภอคง 24 / มิ.ย. / 2553
กศน.อำเภอคง 24 / มิ.ย. / 2553
กศน.อำเภอคง 24 / มิ.ย. / 2553
กศน.อำเภอคง 24 / มิ.ย. / 2553
กศน.อำเภอคง 24 / มิ.ย. / 2553
|