นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศนโยบายเรียนฟรีตั้งแต่ระดับอนุบาลยันจบปริญญาตรี ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วในปีการศึกษา 2553 ครอบคลุมรวมไปถึงผู้พิการกว่า 2 แสนคนทั่วประเทศ กลายเป็นความหวังให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้เข้าถึงการศึกษาเสียที
อย่างไรก็ต่าม ศุภชีพ ดิษเทศ นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไทยที่แม้จะเป็นการเรียนฟรีแต่ยังไม่เอื้อให้กับผู้พิการ ว่า กระทรวงศึกษาธิการได้มีการเตรียมความพร้อมด้านครูผู้สอน สื่อการเรียนการสอน และภูมิทัศน์ เพื่อรองรับเด็กกลุ่มนี้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากผู้พิการมีหลายประเภท ทางสายตา เคลื่อนไหว หูหนวก ปัญหาทางสติปัญญาฯลฯ ที่สำคัญยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ
“จะให้โรงเรียนทุกแห่งเตรียมความพร้อมทุกด้านเพื่อรองรับผู้พิการ เชื่อว่า คงไม่สามารถทำได้ครบทุกแห่ง จึงเสนอให้มีโรงเรียนต้นแบบเพื่อให้ผู้พิการสามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติอย่างน้อยจังหวัดละแห่ง ขณะเดียวกันควรปรับสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เอื้อต่อผู้พิการโดยเฉพาะระบบขนส่งเพื่อผู้พิการ หรือหาที่พักให้แก่ผู้พิการ” ศุภชีพ กล่าว
ศุภชีพ มองว่า นโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้ผู้พิการเรียนสูงขึ้น เป็นเรื่องดี ในอนาคต 5 ปี 10 ปีข้างหน้า จะมีผู้ที่พิการเรียนจบมีวุฒิทางการศึกษาสูงขึ้น จบ ม.3 ม.6 จบ ปวช.ปวส.หรือปริญญาตรี แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ การหางาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ปัจจุบันมีน้อยมากที่จะเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าทำงาน มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเอง
“ผมเข้าใจผู้พิการทุกคนดี เพราะผมก็เป็นผู้พิการ รู้ปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษาและการไม่มีงานทำ เมื่อรัฐพยายามยกระดับคุณภาพการศึกษาแล้วก็ขอให้ผลักดันการมีงานทำ เขียนกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้พิการมีเก้าอี้นั่งในสถานประกอบการ หรือสถานที่ราชการบ้าง สมัยก่อนมีกฎหมายบังคับให้สถานประกอบการรับผู้พิการเข้าทำงาน โดยพนักงานปกติ 200 คนต่อผู้พิการ 1 คน แต่กฎหมายก็เปิดช่องให้แก่สถานประกอบการว่าหากไม่รับผู้พิการเข้าทำงานก็ส่งเงินเข้ารัฐแทน จึงอยากให้รัฐทำเป็นตัวอย่างรับผู้พิการเข้าทำงาน เชื่อว่า สถานประกอบการจะรับเข้าทำงานด้วย”
มณีรัตน์ ประภาษา อายุ 31 ปี พิการร่างกาย นั่งวีลแชร์ เรียนจบปริญญาตรี สาขารัฐประศาสนศาสตร์ เอกบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิการ (มสธ.) ปัจจุบันเป็นพนักงานรับโทรศัพท์ 1133 บอกว่า ผู้พิการส่วนใหญ่เข้าถึงการศึกษาในระบบได้น้อยมาก ด้วยข้อจำกัดหลายประการ บางคนพ่อแม่มีฐานะยากจน และผู้พิการจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าคนอื่น ส่วนมากนั่งรถเมล์ไม่ได้ต้องนั่งแท็กซี่ เนื่องจากศูนย์การศึกษาเพื่อคนพิการอยู่ไกลและมีไม่กี่แห่ง
“ไม่ได้พิการมาแต่กำเนิดแต่มีปัญหาโรคเลือดส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตอนนั้นเรียนอยู่ ม. 2 ต้องขาดเรียนบ่อยๆ เพื่อไปพบแพทย์ สุดท้ายต้องลาออกเพื่อมารักษาตัว เปลี่ยนมาเรียนเทียบกับ กศน.แทนกระทั่งจบ ม.6 จะไปเรียนมหาวิทยาลัยปิดคงลำบาก ต้องเรียนสัปดาห์ละ 5 วัน จึงตัดสินใจเรียน มสธ.นั่งอ่านตำราอยู่บ้าน ไปสอบอย่างเดียว” มณีรัตน์ เล่าถึงความยากลำบากที่ผ่านมาซึ่งนับว่า เธอยังโชคดีกว่าเพื่อนที่พิการหลายคน ที่มีโอกาสเรียน มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงตัวเองและไม่ต้องเป็นภาระของพ่อแม่
ต่างจาก ศุภโชค มีไคยะ อายุ 27 ปี พิการร่างกาย นั่งวีลแชร์ เรียนจบ ม.6 เล่าให้ฟังว่า ยังหางานทำไม่ได้ เขาเรียนจบแค่ ม,6 สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์โปรแกรมออฟฟิศได้ จึงอยากขอให้สถานประกอบการช่วยรับเข้าทำงาน หรือส่งงานที่สามารถนั่งทำที่บ้านได้ เพราะไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว
“กว่าจะได้วุฒิมีความรู้ด้านคอมพ์ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องดั้นด้นไปเรียนที่ กศน.กับศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อคนพิการ พระประแดง ซึ่งการเดินทางค่อนข้างลำบากมาก ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากระบบขนส่งบ้านเราไม่เอื้อให้คนพิการจึง จำเป็นต้องนั่งแท็กซี่”
ศุภโชค เล่าพร้อมกับแสดงความเห็นว่า การที่รัฐยกคุณภาพการศึกษาแก่ผู้พิการให้เรียนฟรี ถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องถามว่าฟรีทุกอย่างหรือไม่ ไม่อยากเหมือนโครงการเรียนฟรี 15 ปีไม่ได้ให้ฟรีทุกอย่าง โรงเรียนยังเก็บอีกหลายรายการ รัฐต้องระบุให้ชัดเจน และเมื่อเรียนจบแล้วรัฐควรหางานให้พวกเราทำด้วย เพื่อไม่เป็นภาระของสังคม
โดย นางสาวรสสุคนธ์ เพ็งภูบาล
ตัวอย่างkoratsite1.08/UserFiles/File/ubom/FckEditor_1.doc
รูปภาพ
เข้าชม : 160
|