วัตถุประสงค์สำคัญของการวิจัย
ได้สาระความรู้สำคัญตรงกับที่ต้องการ สาระความรู้นั้นเป็นความจริงที่เชื่อถือได้ (Creditability) เป็นสาระความรู้ที่ได้จากการใช้เครื่องมือและวิธีการที่ตรง (Valid) เที่ยง (Reliable) และมีประสิทธิภาพ (Efficient)
ปัจจัยที่มีผลต่อความน่าเชื่อถือของผลการวิจัย
1.ความชัดเจนของการกำหนดสาระความรู้ที่ต้องการได้รับจากการวิจัย
2. การวิเคราะห์และนิยามส่วนประกอบของสาระความรู้ เช่น ใช้กระบวนการวิเคราะห์ง่าย ๆ
สาระความรู้ที่ต้องการ : ลักษณะวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และลักษณะค่านิยมในสถานศึกษาที่ส่งผลถึงคุณภาพการจัดการศึกษา ทำให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง คนดี และเป็นคนมีความสุข
นิยามส่วนประกอบ : ให้ความหมาย กำหนดตัวบ่งชี้ (Indicators)ของส่วนประกอบหลัก เช่น
- ความเป็นคนเก่ง คนดี คนมีความสุขของผู้เรียน
- วัฒนธรรมในสถานศึกษา
- สภาพแวดล้อมของสถานศึกษา
- ค่านิยมสำคัญในสถานศึกษา
3.การนำส่วนประกอบแต่ละส่วนมากำหนดเป็นตัวแปร และนิยามเชิงปฏิบัติการ (Operational Definition)ของแต่ละตัวแปร โดยยึดความหมาย และตัวบ่งชี้ เป็นหลัก
4. การกำหนดข้อมูลที่ต้องการ และแหล่งต้นตอของข้อมูลนั้นที่จะให้ข้อมูลได้ตรงที่สุด
5. การกำหนดเครื่องมือและวิธีการเก็บข้อมูลที่เที่ยงตรงที่สุด ซึ่งหลายครั้งขึ้นกับ รูปแบบของแบบวัด (Measurement) ขึ้นกับเทคนิคการใช้แบบวัด และขึ้นกับผู้วัดหรือผู้ใช้เครื่องมือเก็บข้อมูล
6. เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น การใช้วิธีการทางสถิติที่เหมาะสม
รูปแบบการวิจัย
ตัวแปรตาม คือ ผลการเรียนรู้ของผู้เรียน คุณลักษณะทางจิตใจด้านความดี คุณลักษณะทางอารมณ์ด้านความสุข
ตัวแปรอิสระ คือ ตัวแปรย่อย ๆ ของวัฒนธรรมของสถานศึกษา ตัวแปรย่อย ๆ ของสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา และตัวแปรย่อย ๆ ของลักษณะค่านิยมของบุคคลในสถานศึกษา
รูปแบบวิจัยเชิงสัมพันธ์ (Correlation Study) มุ่งตอบคำถามว่า ตัวแปรย่อย ๆ ของ 3 ตัวแปรหลัก มีความสัมพันธ์กับตัวแปรตามอย่างไร ผลการวิจัยช่วยชี้แนะการเสริมสร้างพัฒนาในสิ่งที่มีความสัมพันธ์หรือส่งผลต่อตัวแปรตาม การวิเคราะห์ข้อมูล อาจใช้วิธีการทางสถิติได้หลายวิธี เช่น
- Regression Analysis
- Discriminant Analysis
- Factor Analysis
- Path Analysis
รูปแบบวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Study) มุ่งตอบคำถามว่า สถานศึกษาระดับต่าง ๆ ประเภทต่าง ๆ หรือขนาดต่าง ๆ มีสถานภาพตามตัวแปรย่อยต่าง ๆ สูง-ต่ำ มาก-น้อย เพียงใด
หลักสำคัญในการกำหนดและนิยามตัวแปร
- เลือกกำหนดตัวแปรที่จะนำมาใช้ในการวิจัย อย่างพิถีพิถันจากทฤษฎี จากผลการวิจัย จากการร่วมคิดของผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ
- เลือกใช้ตัวแปรจำนวนน้อยที่สุดที่แต่ละตัวมีความสำคัญมากที่สุด เป็นตัวแปรที่ควบคุมจัดกระทำได้ในสถานการณ์จริง ถ้าไม่แน่ใจควรทดลองนำร่อง (Pilot Study) เช่น ใช้ตัวแปรที่เป็นไปได้ทุกตัวแม้จะมีจำนวนมาก แต่ลดจำนวนตัวแปรลงด้วยการวิเคราะห์ Intercorrelation Analysis หรือ Factor Analysis หรือ Discriminant Analysis เป็นต้น แล้วค่อยนำตัวแปรสำคัญที่เหลือ ไปใช้ในการออกแบบดำเนินการวิจัยจริง ต่อไป
ตัวอย่างตัวแปร
วัฒนธรรมสถานศึกษา |
สภาพแวดล้อม |
ค่านิยมสำคัญ |
วิสัยทัศน์มุ่งความเป็นเลิศ |
คุณภาพครู |
ครูและผู้บริหาร |
การยึดถือมาตรฐาน |
ความเป็นผู้นำ |
ความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ |
การบริหารจัดการที่เน้นผล |
ห้องปฏิบัติการ |
ความมุ่งมั่นพัฒนาตนอยู่เสมอ |
การใช้ระบบประกันคุณภาพ |
สื่อการเรียน |
ความเป็นมืออาชีพครู/ผู้บริหาร |
การรักษาชื่อเสียงสถานศึกษา |
เทคโนโลยี |
ผู้เรียน |
การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย |
สภาพชุมชน |
ความมีวินัย |
การประเมินเพื่อการพัฒนา |
การสื่อสาร |
ความมุ่งมั่นใฝ่รู้ ใฝ่สูง ใฝ่ดี |
แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือวัดค่าตัวแปร
- หัวใจสำคัญของการสร้างเครื่องมือวัดค่าตัวแปร คือ วัดได้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย วัดได้ครอบคลุมสาระสำคัญของตัวแปรนั้นอย่างครบถ้วน และมีมาตรฐานในการใช้เครื่องมือ เพื่อรับประกันความเที่ยง และความตรงของข้อมูลที่จะได้จากการใช้เครื่องมือนั้น
- ในกรณีที่นักวิจัยไม่มีสมมติฐานล่วงหน้าว่าตัวแปรอิสระควรมีลักษณะอย่างไร การสร้างเครื่องมือจะวัดตัวแปรอิสระทุกแง่ทุกมุม เช่น ในกรณีที่โครงการวิจัยไม่ได้กำหนดสมมติฐานไว้ล่วงหน้าว่า สถานศึกษาควรมีลักษณะวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และค่านิยม ที่มีลักษณะเหมาะสมดีงาม เพื่อให้ส่งผลต่อผู้เรียนให้เป็นคนเก่ง-คนดี-คนมีความสุข รูปแบบการสร้างเครื่องมือวิจัยจะเปิดกว้าง โดยรับสภาพความเป็นไปทุกด้านของแต่ละตัวแปร เช่น ตัวแปรวัฒนธรรม ก็จะเก็บบันทึกข้อมูลสภาพวัฒนธรรมทุกด้าน ในเรื่องสัญลักษณ์ ความเชื่อ ความนิยม และวิถีปฏิบัติ ทุกด้านของสถานศึกษา เครื่องมือจะถูกออกแบบให้สามารถเก็บข้อมูลว่าสถานศึกษามีอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรม และอาจเก็บข้อมูลให้ลึกขึ้นว่า ในแต่ละลักษณะที่มีนั้น มีระดับความมาก-น้อยเพียงใด ถ้าใช้รูปแบบนี้ จะเก็บข้อมูลวงกว้าง เช่นเก็บข้อมูล วัฒนธรรมการนำอาหารใส่ปิ่นโตจากบ้านไปรับประทานที่โรงเรียน วัฒนธรรมเล่นหมากรุกของอาจารย์เมื่อพักกลางวัน ฯลฯ แต่ก็มีประโยชน์ ถ้าเป็นการวิจัยในโครงการนำร่องก่อนทำโครงการจริง นั่นคือ เป็นการลองเก็บข้อมูลทุกอย่างของวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และค่านิยม แล้วนำไปวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ เลือกสรร ตัดสิน ลักษณะตัวแปรอิสระที่มีความสัมพันธ์ หรือส่งผลต่อการทำให้ผู้เรียน เก่ง-ดี-มีสุข ในการทำโครงการจริงจะออกแบบเครื่องมือวัดเฉพาะลักษณะตัวแปรที่เหมาะสมดีงามส่งผลต่อตัวแปรตามเท่านั้น เช่น วัดวัฒนธรรมคุณภาพ เท่านั้น เป็นต้น
- ในกรณีที่นักวิจัยมีทฤษฎี ความเชื่อ หรือกรอบแนวคิดล่วงหน้าว่า วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และค่านิยม ในสถานศึกษา ควรมีลักษณะเหมาะสมดีงามอย่างไรจึงจะทำให้เกิดผลที่ผู้เรียน ให้เป็นคนเก่ง-คนดี-คนมีความสุข รูปแบบการสร้างเครื่องมือจะออกแบบให้วัดเฉพาะคุณลักษณะที่พึงปรารถนาของตัวแปรอิสระต่าง ๆ การบันทึกข้อมูลผลการวัดค่าตัวแปร จะบันทึก 2 ระดับคือ
ระดับ มี หรือ ไม่มี ในแต่ละสิ่งแต่ละอย่างของแต่ละตัวแปร
ระดับ มีมากน้อย/สูงต่ำ เพียงใดในแต่ละสิ่งแต่ละอย่างนั้น
- ประเภทของเครื่องมือวิจัยที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้วัดค่าตัวแปรได้ตรงและเที่ยง มีความเชื่อถือได้ในข้อมูล คือ
4.1 เครื่องมือที่วัดได้ตามสภาพจริง (Authentic Measurement)
มีลักษณะลึกเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (Ethnographic Study) ในสถานการณ์ปกติตามธรรมชาติ ใช้วิธีการอยู่ร่วมกับสังคมของกลุ่มนั้นสักระยะหนึ่ง (Participatory Approach) เป็นการวิจัยที่ใช้นักวิจัยเป็นเครื่องมือการวิจัย อาจใช้แบบบันทึกข้อมูลเป็น Checklist, Rating Scale,หรือ Open-ended Record ใช้เทคนิควิธีการสังเกตพฤติกรรม ตรวจสอบร่องรอยหลักฐาน และสนทนาแบบไม่เป็นทางการ (Informal Interview) ลักษณะเด่นของข้อมูลที่ได้ คือ
- ข้อมูลการปฏิบัติตามธรรมชาติความเป็นจริง
- ข้อมูลเชิงเหตุผล ทำให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมว่าบุคคลที่ทำพฤติกรรมนั้นเขาคิดอย่างไร เขาเชื่ออย่างไร และเขารู้สึกอย่างไรกับการทำพฤติกรรมของเขา หรือของผู้อื่น นับว่าสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า คนทำพฤติกรรมเดียวกัน อาจมีที่มาจากสาเหตุที่ต่างกัน และคนที่ทำพฤติกรรมต่างกัน อาจมาจากสาเหตุเดียวกันก็ได้ การศึกษาพฤติกรรมของคน ควรสืบสาวไปให้ถึงเจตนาของการทำพฤติกรรม
4.2 เครื่องมือวิจัยที่ใช้วิธีการตรวจสอบจากร่องรอยหลักฐาน
เป็นแนวทางการวัดค่าตัวแปรโดยวิธีที่ไม่รบกวนผู้ให้ข้อมูล (Unobtrusive Measurement) ไม่สอบถามกลุ่มตัวอย่างโดยตรง แต่ใช้วิธีวางแผนล่วงหน้าว่า ถ้ากลุ่มตัวอย่างมีคุณลักษณะ ของตัวแปร เขาควรมีผลงานหรือผลการกระทำอะไรบ้างที่เป็นพยานหลักฐานขั้นตอนสำคัญ ของการสร้างเครื่องมือวิจัยตามแนวนี้ คือ
- ระบุตัวแปร ที่ชัดเจน Uni-dimension, homogeneous
- ศึกษาคำนิยาม ขอบเขตของความหมายของตัวแปร
- กำหนดเกณฑ์ดัชนีชี้วัดเชิงผลงานหรือผลการกระทำ (Criterion Indices)
- ระบุแหล่งข้อมูลที่เป็นหลักฐานของการกระทำตามเกณฑ์ข้างต้น
- กำหนดวิธีบันทึกข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบร่องรอยหลักฐาน เช่น
- รายการ Checklist บันทึกว่ามีอะไร ทำอะไร ใครทำ ทำอย่างไร ทำกับใคร
ผลการกระทำเป็นอย่างไร ซึ่งอาจใช้การสนทนากับกลุ่มตัวอย่างประกอบการวิเคราะห์หลักฐาน
ถ้าหลักฐานไม่ชัดเจนพอ
- แบบประเมินระดับคุณภาพ Rating Scale บันทึกระดับความ สูง-ต่ำ มาก-น้อย ของระดับความเข้มของการกระทำ หรือผลของการกระทำ
- จัดทำคู่มือเป็นมาตรฐานการเก็บรวบรวมข้อมูล
4.3 เครื่องมือการวิจัยที่เน้นวิธีการทางมานุษยวิทยา
การวิจัยเชิงมานุษยวิทยา (Anthropological Approach) มีลักษณะคล้ายการวิจัยแบบที่กล่าวไว้ในหัวข้อ 4.1 ที่ใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วมอยู่ในกลุ่มสังคมนั้น ใช้การปฏิสัมพันธ์กลมกลืนไปกับกลุ่มในวิถีชีวิตปกติ ใช้การสนทนา และตรวจสอบร่องรอยหลักฐาน เพื่อบันทึกเป็นความเรียงเชิงบรรยายเนื้อหาสาระ (Qualitative Study) ไม่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าต้องการเห็นลักษณะ วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และค่านิยม ในแบบใด ไม่มีการใช้เครื่องมือบันทึกข้อมูลเชิงปริมาณแบบทางการ มีคุณค่าทำให้ได้ข้อมูลลุ่มลึก สะท้อนองค์รวมของความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีวิถีชีวิตปฏิสัมพันธ์กัน สะท้อนความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก ที่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเครื่องมือการวิจัยเชิงปริมาณจะขาดสิ่งดีงามนี้ไป มีประโยชน์ในขั้นหาความรู้เกี่ยวกับตัวแปร ก่อนจะนำมาจัดระบบเลือกสรรตัวแปรที่ส่งผลต่อการทำให้ผู้เรียน เก่ง-ดี-มีสุข เป็นการวิจัยนำร่องก่อนการตั้งสมมติฐาน จุดอ่อนของรูปแบบการวิจัยนี้คือ เป็นข้อมูลเฉพาะกลุ่มคน ไม่มีการวัดค่าตัวแปรให้เป็นปริมาณเชิงวิทยาศาสตร์ ทำให้ยากต่อการสรุปเป็นความจริงทั่วไป (Generalization) ไปสู่ประชากรในวงกว้างได้
ตัวอย่างบางประการ
ตัวแปร”ผลการเรียนรู้ด้านความเป็นคนดี”
เกณฑ์ดัชนีชี้วัด : พฤติกรรมการปฏิบัติตนตามคุณธรรมพื้นฐาน
แหล่งข้อมูล : - บันทึกการทำความดีในแฟ้มสะสมผลงานนักเรียน
- หลักฐานการร่วมกิจกรรมทางศาสนา
- หลักฐานการได้รับการยกย่องในกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา และวัฒนธรรม
- หลักฐานในสมุดฝากธนาคารแห่งความดี
- ฯลฯ
การบันทึกข้อมูล : จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียนที่สุ่มอย่างเป็นระบบ บันทึกความถี่ในรอบปีของพฤติ
กรรมความเป็นคนดีของรายบุคคล คำนวณเป็นค่า Percentile เทียบกับกลุ่ม
กลุ่มตัวแปรวัฒนธรรม ตัวแปร “ปรัชญา วิสัยทัศน์ของสถานศึกษา”
เกณฑ์ดัชนีชี้วัด : - มีข้อความแสดงปรัชญา วิสัยทัศน์ชัดเจน
- ปรัชญา วิสัยทัศน์ แสดงถึงความมุ่งมั่นในคุณภาพผู้เรียน เน้นความเป็นคนเก่ง
ความเป็นคนดี และความเป็นคนมีความสุข
- คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง ทราบและเข้าใจความมุ่งมั่นในคุณภาพของสถานศึกษา
แหล่งข้อมูล : - ธรรมนูญโรงเรียน
- การสนทนากับกลุ่มครู นักเรียน ผู้ปกครอง ในลักษณะ Focus Group
การบันทึกข้อมูล : - Checklist ให้คะแนนในระบบ 0/1 และ Rating Scale คะแนน 5 ระดับ
บันทึกความเห็นของผู้วิจัยในลักษณะเด่น/ลักษณะด้อยของสถานศึกษาตามตัวแปร”ปรัชญา
วิสัยทัศน์ของสถานศึกษา”
กลุ่มตัวแปรวัฒนธรรม ตัวแปร “การบริหารจัดการที่เน้นคุณภาพ”
เกณฑ์ดัชนีชี้วัด : - มีแผนปฏิบัติการเน้นผลผลิต กระบวนการ ปัจจัย และตัวชี้วัดความสำเร็จ
- มีระบบควบคุมบริหารคุณภาพ
- มีระบบการติดตาม นิเทศ ประเมินผล
- มีรายงานผลคุณภาพ
แหล่งข้อมูล : - แผนปฏิบัติการ
- เอกสารแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารคุณภาพ
- บันทึกการประชุม เอกสารรายงานผล การติดตาม นิเทศ
- เอกสารรายงานคุณภาพ
การบันทึกข้อมูล : - Checklist สิ่งที่มีตามเกณฑ์
- Rating Scale ระดับผลงานตามเกณฑ์
- คำอธิบาย ข้อสังเกต
กลุ่มตัวแปรสภาพแวดล้อม ตัวแปร "สังคมแห่งการเรียนรู้"
เกณฑ์ดัชนีชี้วัด : - มีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้
- ปริมาณหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ วีดีทัศน์ CD-Rom CAI เพื่อการเรียนรู้
- จำนวนนักเรียนต่อคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา
- ผลงานครู/นักเรียนที่ได้จากการใช้ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้
- ความถี่การใช้หนังสือ สื่อ ห้องคอมพิวเตอร์
แหล่งข้อมูล : - เอกสาร แผ่นพับแนะนำศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น ห้องสมุด ชมรมอินเทอร์เนท ฯลฯ
- เอกสารรายงานปริมาณสื่อต่าง ๆ
- เอกสารผลงานค้นคว้าของครูนักเรียน
- หลักฐานการยืมหนังสือ การใช้สื่อ การใช้ห้องคอมพิวเตอร์
การบันทึกข้อมูล : - บันทึกเชิงปริมาณของแต่ละรายการ
- บันทึกคำอธิบาย ข้อสังเกตของผู้วิจัย
กลุ่มตัวแปรค่านิยม ตัวแปร "ค่านิยมใฝ่พัฒนาใฝ่เรียนรู้"
เกณฑ์ดัชนีชี้วัด : - มีผลการวิจัยในชั้นเรียนในรอบ 1 ปี
- มีผลงานครูในรอบ 1 ปี
- มีผลงานนักเรียนในรอบ 1 ปี
แหล่งข้อมูล : - เอกสารผลการวิจัยในชั้นเรียน
- เอกสารผลงานของครูด้านคิดค้นสื่อ กระบวนการเรียนการสอน ฯลฯ
- รายการผลการทำโครงงานของนักเรียน
- รายชื่อครูที่ได้รับการยกย่อง
- รายชื่อนักเรียนที่ได้รับการยกย่อง
การบันทึกข้อมูล : - Checklist สิ่งที่มีสิ่งที่ทำ
- สร้างดัชนีผลงานครูนักเรียนของสถานศึกษา เช่น นำปริมาณความถี่มาเทียบ
กับจำนวนครู จำนวนนักเรียนสร้างเป็นดัชนี
- คำอธิบาย ข้อสังเกตของผู้วิจัย
บทสรุป
การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้มีความสำคัญต่อการคิดค้นริเริ่มนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุง กระบวนการเรียนรู้ ทำให้ได้ข้อมูลการปฏิบัติที่ดี คิดดี ของครูที่เรียกว่า Best Practice นำมาเผยแพร่ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน กระตุ้นให้มีการลองคิด ลองทำเพื่อคุณประโยชน์ของผู้เรียนและครู
รูปแบบของการวิจัยเพื่อพัฒนามีได้หลากหลาย ไม่ควรมีกฎ กติกา หรือรูปแบบเดียวที่ใช้ได้ทุกสถานศึกษา แต่ควรเปิดกว้างให้ครูและผู้บริหารคิดค้นแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปสู่ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคน ให้แต่ละคนเกิดการเรียนรู้เต็มศักยภาพ เช่น มีความรู้คู่คุณธรรม และมีระดับฐานะทางอารมณ์ (Emotional Quotient) หรือ EQ ที่เป็นคนมีความสุข
สิ่งที่ควรระลึก คือ ข้อมูลผลการวิจัยจะต้องมาจากเทคนิควิธีและเครื่องมือวัดค่าตัวแปรที่แม่นตรง เชื่อถือได้ แนวทางหนึ่งคือ ควรเลี่ยงการให้ข้อมูลที่เสแสร้งผิดจากความจริง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสภาพการรู้ตัวของผู้ให้ข้อมูลว่าการวิจัยคาดหวังข้อมูลอะไร และมาจากจุดอ่อนของเครื่องมือที่ใช้รูปแบบเก่า ๆ เช่น แบบสอบถามความเห็น ความรู้สึก แทนที่จะดูการปฏิบัติจริง
แนวทางการพัฒนาเครื่องมือวิจัยเป็นกระบวนการไม่มีที่สิ้นสุด การพยายามใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยเทคนิควิธีการหลายอย่าง เก็บจากหลายกลุ่มตัวอย่าง และเก็บหลายครั้งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลวิจัย
ที่มาของข้อมูล : ดร.สงบ ลักษณะ
เข้าชม : 822
|