[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 


เนื้อหา : บทความ/หลักสูตร
หมวดหมู่ : การศึกษานอกระบบ
หัวข้อเรื่อง : สรุปสาระสำคัญการสร้างเครื่องมือวิจัย

พฤหัสบดี ที่ 22 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2556

คะแนน vote : 185  

 
วัตถุประสงค์สำคัญของการวิจัย

ได้สาระความรู้สำคัญตรงกับที่ต้องการ สาระความรู้นั้นเป็นความจริงที่เชื่อถือได้ (Creditability) เป็นสาระความรู้ที่ได้จากการใช้เครื่องมือและวิธีการที่ตรง (Valid) เที่ยง (Reliable) และมีประสิทธิภาพ (Efficient)

ปัจจัยที่มีผลต่อความน่าเชื่อถือของผลการวิจัย

    1.ความชัดเจนของการกำหนดสาระความรู้ที่ต้องการได้รับจากการวิจัย
    2. การวิเคราะห์และนิยามส่วนประกอบของสาระความรู้ เช่น ใช้กระบวนการวิเคราะห์ง่าย ๆ

สาระความรู้ที่ต้องการ : ลักษณะวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และลักษณะค่านิยมในสถานศึกษาที่ส่งผลถึงคุณภาพการจัดการศึกษา ทำให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง คนดี และเป็นคนมีความสุข

นิยามส่วนประกอบ : ให้ความหมาย กำหนดตัวบ่งชี้ (Indicators)ของส่วนประกอบหลัก เช่น

  1. ความเป็นคนเก่ง คนดี คนมีความสุขของผู้เรียน
  2. วัฒนธรรมในสถานศึกษา
  3. สภาพแวดล้อมของสถานศึกษา
  4. ค่านิยมสำคัญในสถานศึกษา

    3.การนำส่วนประกอบแต่ละส่วนมากำหนดเป็นตัวแปร และนิยามเชิงปฏิบัติการ (Operational Definition)ของแต่ละตัวแปร โดยยึดความหมาย และตัวบ่งชี้ เป็นหลัก

    4. การกำหนดข้อมูลที่ต้องการ และแหล่งต้นตอของข้อมูลนั้นที่จะให้ข้อมูลได้ตรงที่สุด

    5. การกำหนดเครื่องมือและวิธีการเก็บข้อมูลที่เที่ยงตรงที่สุด ซึ่งหลายครั้งขึ้นกับ รูปแบบของแบบวัด (Measurement) ขึ้นกับเทคนิคการใช้แบบวัด และขึ้นกับผู้วัดหรือผู้ใช้เครื่องมือเก็บข้อมูล

    6. เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น การใช้วิธีการทางสถิติที่เหมาะสม

รูปแบบการวิจัย

ตัวแปรตาม คือ ผลการเรียนรู้ของผู้เรียน คุณลักษณะทางจิตใจด้านความดี คุณลักษณะทางอารมณ์ด้านความสุข

ตัวแปรอิสระ คือ ตัวแปรย่อย ๆ ของวัฒนธรรมของสถานศึกษา ตัวแปรย่อย ๆ ของสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา และตัวแปรย่อย ๆ ของลักษณะค่านิยมของบุคคลในสถานศึกษา

รูปแบบวิจัยเชิงสัมพันธ์ (Correlation Study) มุ่งตอบคำถามว่า ตัวแปรย่อย ๆ ของ 3 ตัวแปรหลัก มีความสัมพันธ์กับตัวแปรตามอย่างไร ผลการวิจัยช่วยชี้แนะการเสริมสร้างพัฒนาในสิ่งที่มีความสัมพันธ์หรือส่งผลต่อตัวแปรตาม การวิเคราะห์ข้อมูล อาจใช้วิธีการทางสถิติได้หลายวิธี เช่น

  • Regression Analysis
  • Discriminant Analysis
  • Factor Analysis
  • Path Analysis

รูปแบบวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Study) มุ่งตอบคำถามว่า สถานศึกษาระดับต่าง ๆ ประเภทต่าง ๆ หรือขนาดต่าง ๆ มีสถานภาพตามตัวแปรย่อยต่าง ๆ สูง-ต่ำ มาก-น้อย เพียงใด

หลักสำคัญในการกำหนดและนิยามตัวแปร

    • เลือกกำหนดตัวแปรที่จะนำมาใช้ในการวิจัย อย่างพิถีพิถันจากทฤษฎี จากผลการวิจัย จากการร่วมคิดของผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ
  1. เลือกใช้ตัวแปรจำนวนน้อยที่สุดที่แต่ละตัวมีความสำคัญมากที่สุด เป็นตัวแปรที่ควบคุมจัดกระทำได้ในสถานการณ์จริง ถ้าไม่แน่ใจควรทดลองนำร่อง (Pilot Study) เช่น ใช้ตัวแปรที่เป็นไปได้ทุกตัวแม้จะมีจำนวนมาก แต่ลดจำนวนตัวแปรลงด้วยการวิเคราะห์ Intercorrelation Analysis หรือ Factor Analysis หรือ Discriminant Analysis เป็นต้น แล้วค่อยนำตัวแปรสำคัญที่เหลือ ไปใช้ในการออกแบบดำเนินการวิจัยจริง ต่อไป

ตัวอย่างตัวแปร 

วัฒนธรรมสถานศึกษา สภาพแวดล้อม ค่านิยมสำคัญ
วิสัยทัศน์มุ่งความเป็นเลิศ คุณภาพครู ครูและผู้บริหาร
การยึดถือมาตรฐาน ความเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์
การบริหารจัดการที่เน้นผล ห้องปฏิบัติการ ความมุ่งมั่นพัฒนาตนอยู่เสมอ
การใช้ระบบประกันคุณภาพ สื่อการเรียน ความเป็นมืออาชีพครู/ผู้บริหาร
การรักษาชื่อเสียงสถานศึกษา เทคโนโลยี ผู้เรียน
การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย สภาพชุมชน ความมีวินัย
การประเมินเพื่อการพัฒนา การสื่อสาร ความมุ่งมั่นใฝ่รู้ ใฝ่สูง ใฝ่ดี

แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือวัดค่าตัวแปร

    • หัวใจสำคัญของการสร้างเครื่องมือวัดค่าตัวแปร คือ วัดได้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย วัดได้ครอบคลุมสาระสำคัญของตัวแปรนั้นอย่างครบถ้วน และมีมาตรฐานในการใช้เครื่องมือ เพื่อรับประกันความเที่ยง และความตรงของข้อมูลที่จะได้จากการใช้เครื่องมือนั้น
    • ในกรณีที่นักวิจัยไม่มีสมมติฐานล่วงหน้าว่าตัวแปรอิสระควรมีลักษณะอย่างไร การสร้างเครื่องมือจะวัดตัวแปรอิสระทุกแง่ทุกมุม เช่น ในกรณีที่โครงการวิจัยไม่ได้กำหนดสมมติฐานไว้ล่วงหน้าว่า สถานศึกษาควรมีลักษณะวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และค่านิยม ที่มีลักษณะเหมาะสมดีงาม เพื่อให้ส่งผลต่อผู้เรียนให้เป็นคนเก่ง-คนดี-คนมีความสุข รูปแบบการสร้างเครื่องมือวิจัยจะเปิดกว้าง โดยรับสภาพความเป็นไปทุกด้านของแต่ละตัวแปร เช่น ตัวแปรวัฒนธรรม ก็จะเก็บบันทึกข้อมูลสภาพวัฒนธรรมทุกด้าน ในเรื่องสัญลักษณ์ ความเชื่อ ความนิยม และวิถีปฏิบัติ ทุกด้านของสถานศึกษา เครื่องมือจะถูกออกแบบให้สามารถเก็บข้อมูลว่าสถานศึกษามีอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นวัฒนธรรม และอาจเก็บข้อมูลให้ลึกขึ้นว่า ในแต่ละลักษณะที่มีนั้น มีระดับความมาก-น้อยเพียงใด ถ้าใช้รูปแบบนี้ จะเก็บข้อมูลวงกว้าง เช่นเก็บข้อมูล วัฒนธรรมการนำอาหารใส่ปิ่นโตจากบ้านไปรับประทานที่โรงเรียน วัฒนธรรมเล่นหมากรุกของอาจารย์เมื่อพักกลางวัน ฯลฯ แต่ก็มีประโยชน์ ถ้าเป็นการวิจัยในโครงการนำร่องก่อนทำโครงการจริง นั่นคือ เป็นการลองเก็บข้อมูลทุกอย่างของวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และค่านิยม แล้วนำไปวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ เลือกสรร ตัดสิน ลักษณะตัวแปรอิสระที่มีความสัมพันธ์ หรือส่งผลต่อการทำให้ผู้เรียน เก่ง-ดี-มีสุข ในการทำโครงการจริงจะออกแบบเครื่องมือวัดเฉพาะลักษณะตัวแปรที่เหมาะสมดีงามส่งผลต่อตัวแปรตามเท่านั้น เช่น วัดวัฒนธรรมคุณภาพ เท่านั้น เป็นต้น
    • ในกรณีที่นักวิจัยมีทฤษฎี ความเชื่อ หรือกรอบแนวคิดล่วงหน้าว่า วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และค่านิยม ในสถานศึกษา ควรมีลักษณะเหมาะสมดีงามอย่างไรจึงจะทำให้เกิดผลที่ผู้เรียน ให้เป็นคนเก่ง-คนดี-คนมีความสุข รูปแบบการสร้างเครื่องมือจะออกแบบให้วัดเฉพาะคุณลักษณะที่พึงปรารถนาของตัวแปรอิสระต่าง ๆ การบันทึกข้อมูลผลการวัดค่าตัวแปร จะบันทึก 2 ระดับคือ

    ระดับ มี หรือ ไม่มี ในแต่ละสิ่งแต่ละอย่างของแต่ละตัวแปร

    ระดับ มีมากน้อย/สูงต่ำ เพียงใดในแต่ละสิ่งแต่ละอย่างนั้น

    • ประเภทของเครื่องมือวิจัยที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้วัดค่าตัวแปรได้ตรงและเที่ยง มีความเชื่อถือได้ในข้อมูล คือ

4.1 เครื่องมือที่วัดได้ตามสภาพจริง (Authentic Measurement)

มีลักษณะลึกเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (Ethnographic Study) ในสถานการณ์ปกติตามธรรมชาติ ใช้วิธีการอยู่ร่วมกับสังคมของกลุ่มนั้นสักระยะหนึ่ง (Participatory Approach) เป็นการวิจัยที่ใช้นักวิจัยเป็นเครื่องมือการวิจัย อาจใช้แบบบันทึกข้อมูลเป็น Checklist, Rating Scale,หรือ Open-ended Record ใช้เทคนิควิธีการสังเกตพฤติกรรม ตรวจสอบร่องรอยหลักฐาน และสนทนาแบบไม่เป็นทางการ (Informal Interview) ลักษณะเด่นของข้อมูลที่ได้ คือ

    • ข้อมูลการปฏิบัติตามธรรมชาติความเป็นจริง
    • ข้อมูลเชิงเหตุผล ทำให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมว่าบุคคลที่ทำพฤติกรรมนั้นเขาคิดอย่างไร เขาเชื่ออย่างไร และเขารู้สึกอย่างไรกับการทำพฤติกรรมของเขา หรือของผู้อื่น นับว่าสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า คนทำพฤติกรรมเดียวกัน อาจมีที่มาจากสาเหตุที่ต่างกัน และคนที่ทำพฤติกรรมต่างกัน อาจมาจากสาเหตุเดียวกันก็ได้ การศึกษาพฤติกรรมของคน ควรสืบสาวไปให้ถึงเจตนาของการทำพฤติกรรม

4.2 เครื่องมือวิจัยที่ใช้วิธีการตรวจสอบจากร่องรอยหลักฐาน

เป็นแนวทางการวัดค่าตัวแปรโดยวิธีที่ไม่รบกวนผู้ให้ข้อมูล (Unobtrusive Measurement) ไม่สอบถามกลุ่มตัวอย่างโดยตรง แต่ใช้วิธีวางแผนล่วงหน้าว่า ถ้ากลุ่มตัวอย่างมีคุณลักษณะ ของตัวแปร เขาควรมีผลงานหรือผลการกระทำอะไรบ้างที่เป็นพยานหลักฐานขั้นตอนสำคัญ ของการสร้างเครื่องมือวิจัยตามแนวนี้ คือ

    • ระบุตัวแปร ที่ชัดเจน Uni-dimension, homogeneous
    • ศึกษาคำนิยาม ขอบเขตของความหมายของตัวแปร
    • กำหนดเกณฑ์ดัชนีชี้วัดเชิงผลงานหรือผลการกระทำ (Criterion Indices)
    • ระบุแหล่งข้อมูลที่เป็นหลักฐานของการกระทำตามเกณฑ์ข้างต้น
    • กำหนดวิธีบันทึกข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบร่องรอยหลักฐาน เช่น
      - รายการ Checklist บันทึกว่ามีอะไร ทำอะไร ใครทำ ทำอย่างไร ทำกับใคร 
         ผลการกระทำเป็นอย่างไร ซึ่งอาจใช้การสนทนากับกลุ่มตัวอย่างประกอบการวิเคราะห์หลักฐาน
         ถ้าหลักฐานไม่ชัดเจนพอ
    • - แบบประเมินระดับคุณภาพ Rating Scale บันทึกระดับความ สูง-ต่ำ มาก-น้อย   ของระดับความเข้มของการกระทำ หรือผลของการกระทำ

    • จัดทำคู่มือเป็นมาตรฐานการเก็บรวบรวมข้อมูล

4.3 เครื่องมือการวิจัยที่เน้นวิธีการทางมานุษยวิทยา

การวิจัยเชิงมานุษยวิทยา (Anthropological Approach) มีลักษณะคล้ายการวิจัยแบบที่กล่าวไว้ในหัวข้อ 4.1 ที่ใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วมอยู่ในกลุ่มสังคมนั้น ใช้การปฏิสัมพันธ์กลมกลืนไปกับกลุ่มในวิถีชีวิตปกติ ใช้การสนทนา และตรวจสอบร่องรอยหลักฐาน เพื่อบันทึกเป็นความเรียงเชิงบรรยายเนื้อหาสาระ (Qualitative Study) ไม่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าต้องการเห็นลักษณะ วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และค่านิยม ในแบบใด ไม่มีการใช้เครื่องมือบันทึกข้อมูลเชิงปริมาณแบบทางการ มีคุณค่าทำให้ได้ข้อมูลลุ่มลึก สะท้อนองค์รวมของความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีวิถีชีวิตปฏิสัมพันธ์กัน สะท้อนความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก ที่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเครื่องมือการวิจัยเชิงปริมาณจะขาดสิ่งดีงามนี้ไป มีประโยชน์ในขั้นหาความรู้เกี่ยวกับตัวแปร ก่อนจะนำมาจัดระบบเลือกสรรตัวแปรที่ส่งผลต่อการทำให้ผู้เรียน เก่ง-ดี-มีสุข เป็นการวิจัยนำร่องก่อนการตั้งสมมติฐาน จุดอ่อนของรูปแบบการวิจัยนี้คือ เป็นข้อมูลเฉพาะกลุ่มคน ไม่มีการวัดค่าตัวแปรให้เป็นปริมาณเชิงวิทยาศาสตร์ ทำให้ยากต่อการสรุปเป็นความจริงทั่วไป (Generalization) ไปสู่ประชากรในวงกว้างได้

ตัวอย่างบางประการ

ตัวแปร”ผลการเรียนรู้ด้านความเป็นคนดี”

เกณฑ์ดัชนีชี้วัด : พฤติกรรมการปฏิบัติตนตามคุณธรรมพื้นฐาน

แหล่งข้อมูล :      -   บันทึกการทำความดีในแฟ้มสะสมผลงานนักเรียน
                        - หลักฐานการร่วมกิจกรรมทางศาสนา 
                        - หลักฐานการได้รับการยกย่องในกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา และวัฒนธรรม
                        - หลักฐานในสมุดฝากธนาคารแห่งความดี
                        - ฯลฯ

การบันทึกข้อมูล : จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียนที่สุ่มอย่างเป็นระบบ บันทึกความถี่ในรอบปีของพฤติ
                           กรรมความเป็นคนดีของรายบุคคล คำนวณเป็นค่า Percentile เทียบกับกลุ่ม

กลุ่มตัวแปรวัฒนธรรม ตัวแปร “ปรัชญา วิสัยทัศน์ของสถานศึกษา”

เกณฑ์ดัชนีชี้วัด : - มีข้อความแสดงปรัชญา วิสัยทัศน์ชัดเจน
                         - ปรัชญา วิสัยทัศน์ แสดงถึงความมุ่งมั่นในคุณภาพผู้เรียน เน้นความเป็นคนเก่ง 
                           ความเป็นคนดี และความเป็นคนมีความสุข
                        - คณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง ทราบและเข้าใจความมุ่งมั่นในคุณภาพของสถานศึกษา

แหล่งข้อมูล : - ธรรมนูญโรงเรียน
                    - การสนทนากับกลุ่มครู นักเรียน ผู้ปกครอง ในลักษณะ Focus Group

การบันทึกข้อมูล : - Checklist ให้คะแนนในระบบ 0/1 และ Rating Scale คะแนน 5 ระดับ
                           บันทึกความเห็นของผู้วิจัยในลักษณะเด่น/ลักษณะด้อยของสถานศึกษาตามตัวแปร”ปรัชญา 
                           วิสัยทัศน์ของสถานศึกษา”

กลุ่มตัวแปรวัฒนธรรม ตัวแปร “การบริหารจัดการที่เน้นคุณภาพ”

เกณฑ์ดัชนีชี้วัด : - มีแผนปฏิบัติการเน้นผลผลิต กระบวนการ ปัจจัย และตัวชี้วัดความสำเร็จ
                         - มีระบบควบคุมบริหารคุณภาพ
                         - มีระบบการติดตาม นิเทศ ประเมินผล
                         - มีรายงานผลคุณภาพ

แหล่งข้อมูล    : - แผนปฏิบัติการ
                      - เอกสารแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารคุณภาพ
                      - บันทึกการประชุม เอกสารรายงานผล การติดตาม นิเทศ
                     - เอกสารรายงานคุณภาพ

การบันทึกข้อมูล : - Checklist สิ่งที่มีตามเกณฑ์
                           - Rating Scale ระดับผลงานตามเกณฑ์
                           - คำอธิบาย ข้อสังเกต

กลุ่มตัวแปรสภาพแวดล้อม ตัวแปร "สังคมแห่งการเรียนรู้"

เกณฑ์ดัชนีชี้วัด : - มีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้
                         - ปริมาณหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ วีดีทัศน์ CD-Rom CAI เพื่อการเรียนรู้
                         - จำนวนนักเรียนต่อคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา
                         - ผลงานครู/นักเรียนที่ได้จากการใช้ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้
                         - ความถี่การใช้หนังสือ สื่อ ห้องคอมพิวเตอร์

แหล่งข้อมูล : - เอกสาร แผ่นพับแนะนำศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น ห้องสมุด ชมรมอินเทอร์เนท ฯลฯ
                    - เอกสารรายงานปริมาณสื่อต่าง ๆ
                    - เอกสารผลงานค้นคว้าของครูนักเรียน
                   - หลักฐานการยืมหนังสือ การใช้สื่อ การใช้ห้องคอมพิวเตอร์

การบันทึกข้อมูล : - บันทึกเชิงปริมาณของแต่ละรายการ
                           - บันทึกคำอธิบาย ข้อสังเกตของผู้วิจัย

กลุ่มตัวแปรค่านิยม ตัวแปร "ค่านิยมใฝ่พัฒนาใฝ่เรียนรู้"

เกณฑ์ดัชนีชี้วัด : - มีผลการวิจัยในชั้นเรียนในรอบ 1 ปี
                         - มีผลงานครูในรอบ 1 ปี
                         - มีผลงานนักเรียนในรอบ 1 ปี

แหล่งข้อมูล : - เอกสารผลการวิจัยในชั้นเรียน
                    - เอกสารผลงานของครูด้านคิดค้นสื่อ กระบวนการเรียนการสอน ฯลฯ
                    - รายการผลการทำโครงงานของนักเรียน
                    - รายชื่อครูที่ได้รับการยกย่อง
                    - รายชื่อนักเรียนที่ได้รับการยกย่อง

การบันทึกข้อมูล : - Checklist สิ่งที่มีสิ่งที่ทำ
                          - สร้างดัชนีผลงานครูนักเรียนของสถานศึกษา เช่น นำปริมาณความถี่มาเทียบ
                            กับจำนวนครู จำนวนนักเรียนสร้างเป็นดัชนี
                          - คำอธิบาย ข้อสังเกตของผู้วิจัย

บทสรุป

          การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้มีความสำคัญต่อการคิดค้นริเริ่มนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุง กระบวนการเรียนรู้ ทำให้ได้ข้อมูลการปฏิบัติที่ดี คิดดี ของครูที่เรียกว่า Best Practice นำมาเผยแพร่ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน กระตุ้นให้มีการลองคิด ลองทำเพื่อคุณประโยชน์ของผู้เรียนและครู

          รูปแบบของการวิจัยเพื่อพัฒนามีได้หลากหลาย ไม่ควรมีกฎ กติกา หรือรูปแบบเดียวที่ใช้ได้ทุกสถานศึกษา แต่ควรเปิดกว้างให้ครูและผู้บริหารคิดค้นแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปสู่ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคน ให้แต่ละคนเกิดการเรียนรู้เต็มศักยภาพ เช่น มีความรู้คู่คุณธรรม และมีระดับฐานะทางอารมณ์ (Emotional Quotient) หรือ EQ ที่เป็นคนมีความสุข

          สิ่งที่ควรระลึก คือ ข้อมูลผลการวิจัยจะต้องมาจากเทคนิควิธีและเครื่องมือวัดค่าตัวแปรที่แม่นตรง เชื่อถือได้ แนวทางหนึ่งคือ ควรเลี่ยงการให้ข้อมูลที่เสแสร้งผิดจากความจริง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสภาพการรู้ตัวของผู้ให้ข้อมูลว่าการวิจัยคาดหวังข้อมูลอะไร และมาจากจุดอ่อนของเครื่องมือที่ใช้รูปแบบเก่า ๆ เช่น แบบสอบถามความเห็น ความรู้สึก แทนที่จะดูการปฏิบัติจริง

          แนวทางการพัฒนาเครื่องมือวิจัยเป็นกระบวนการไม่มีที่สิ้นสุด การพยายามใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยเทคนิควิธีการหลายอย่าง เก็บจากหลายกลุ่มตัวอย่าง และเก็บหลายครั้งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลวิจัย

ที่มาของข้อมูล : ดร.สงบ   ลักษณะ 


เข้าชม : 727


การศึกษานอกระบบ 5 อันดับล่าสุด

      สรุปสาระสำคัญการสร้างเครื่องมือวิจัย 22 / ส.ค. / 2556
      มาเข้าใจ \"การประเมินผล\" กันเถอะ 17 / ม.ค. / 2555
      การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน 15 / ก.ย. / 2554
      การนิเทศแบบมีส่วนร่วม กลุ่ม1 15 / ก.ย. / 2554
      การวางแผนการนิเทศการศึกษา 15 / ก.ย. / 2554


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบ้านโคก
๒๐๘  หมู่ ๓ ต.บ้านโคก  อ.บ้านโคก  จ.อุตรดิตถ์   ๕๓๑๘๐ โทรศัพท์ ๐๕-๕๔๘๖-๑๒๑
โทรสาร ๐๕๕๔๘๖๐๕๒   http://bankhok
.nfe.go.th
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05HD  Update by